สธ. ใช้กลยุทธ์จำเพาะ ‘PIRAB’ ดูแลประชาชนอายุยืนยาว

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ(Promotion and Prevention Excellence Strategic Plan Forum) พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (PP Excellence) : บูรณาการองค์รวม” แก่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในกำกับ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคภาคี เครือข่ายและพันธมิตรจากภาคประชาชน ประชาคม ปราชญ์ชาวบ้าน และจากกระทรวงต่างๆ เช่นกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,600 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ เป็นหนึ่งใน 4 ยุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศด้านสาธารณสุข ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าการดูแลให้ประชาชนมีสุขภาพ โดยภายใน 20 ปี เด็กจะต้องมีพัฒนาการที่สมวัยไม่น้อยว่าร้อยละ 90 พบอัตราคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 18 คนต่อประชากร 1,000 คน ผู้สูงอายุมีสุขภาพมีมีอายุไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 88 ผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพคนไทยกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย โครงการควบคุมโรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ โครงการส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัยด้านอาหาร และโครงการคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากมลพิษสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี ใช้กลยุทธ์ PIRAB ซึ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ให้คนในสังคมร่วมกันพัฒนาฐานรากของชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง ลดความเสี่ยง เพิ่มปัจจัยปกป้อง เพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรรอบรู้สุขภาพ ขยายวงอย่างกว้างขวางสู่สังคมรอบรู้สุขภาพ (Health Literate Societies) และผลักดันทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policy) ทั้งนี้ กลยุทธ์ PIRAB ประกอบด้วย P : Partner ชักชวนพันธมิตรทุกภาคส่วน ทุกระดับ ให้เห็นความสำคัญและร่วมกันทำงานส่งเสริมสุขภาพแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการกำหนดเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญในทุกนโยบายสุขภาพ (Health in All Policy)

I : Invest กระตุ้นให้เกิดการเกิดลงทุนโดยเฉพาะด้านงบประมาณที่เพียงพอจากระดับนโยบายในทุกภาคส่วนเพื่อจัดการกับปัจจัยกำหนดสุขภาพทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ R : Regulate and Legislate ใช้การตรากฎและออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนจากความเสี่ยงต่อสุขภาพทุกด้าน A : Advocate ชี้นำ ชูประเด็น และสนับสนุนให้การเมืองทุกระดับให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม สร้างการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน และ B : Build Capacity พัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกภาคส่วนให้สามารถพัฒนานโยบายทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมทั้งการวิจัย การกระจายความรู้เพื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน” ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

Advertisement

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า นอกจากกลยุทธ์ PIRAB ที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่นำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการทำงานส่งเสริมสุขภาพแล้ว กรมอนามัยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อให้สามารถกลั่นกรอง ประเมินและตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม เริ่มที่ประชาชนเป็นหลักให้สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้สุขภาพ เข้าใจโรค ความเสี่ยง และปัจจัยความเสี่ยง โต้ตอบ ซักถาม แลกเปลี่ยน นำไปสู่การตัดสินใจลดหรือกำจัดปัจจัยเสี่ยง และปรับพฤติกรรมตนเองและปรับสภาพแวดล้อมได้ และสุดท้ายบอกต่อเพื่อสร้างสังคมรอบรู้สุขภาพอย่างยั่งยืน

“หลักคิดสุดท้ายคือ เส้นทางชีวิตและสุขภาพ (Life Course Approach to Health) เป็นหลักคิดการดูแลสุขภาพแบบต่อเนื่องตลอดทุกช่วงวัยที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยการชี้นำขององค์การอนามัยโลกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งด้านสาธารณสุข สังคม เศรษฐกิจ ในการดูแลยกระดับสุขภาพประชาชนแบบบูรณาการและองค์รวม”นพ.วชิระ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเริ่มจากแม่ตั้งครรภ์ คลอด ทารกเติบโต ผ่านวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และวัยชรา จะพบทั้งปัจจัยเชิงบวกที่ส่งเสริมให้สุขภาพดี และเชิงลบที่ทำลายลดทอนสุขภาพดีลง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข ปรับปรุง การดูแลเฉพาะด้านสาธารณสุขด้านเดียวจะไม่สามารถทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้ เพราะผลกระทบต่อสุขภาพ ณ ช่วงวัยหนึ่ง ๆ จะสะสม ส่งผลต่อเนื่องเมื่ออายุมากขึ้น โดยในแต่ละวัยจะมีช่วงชีวิตที่สำคัญหรือวิกฤติที่เมื่อรับผลกระทบเชิงบวกหรือลบจะมีผลรุนแรงต่อสุขภาพทั้งปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงควรร่วมมือกันดูแลประชาชนตลอดช่วงชีวิต เพื่อเพิ่มปัจจัยส่งเสริมสุขภาพและลดปัจจัยทำลายสุขภาพในจังหวะที่วิกฤติแต่ละวัย เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัวตลอดช่วงชีวิต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image