ปฏิรูป’เรือนจำ’ เพื่อ’ผู้ต้องขังหญิง’

ประเทศไทยอยู่ในสภาพผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เรามีนักโทษเกินกว่า 3 แสนคน แต่มีขีดความสามารถรองรับนักโทษได้ราว 1.6 แสนคน ขณะที่เรือนจำในประเทศส่วนใหญ่ออกแบบมารองรับผู้ต้องขังชาย

ฉะนั้นจึงเป็นเรื่อง “ลำบาก” และ “อัตคัด” ของผู้ต้องขังหญิงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้น จึงต้องช่วยกันหาทางออก ในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเรือนจำสุขภาวะ ครั้งที่ 3 เรื่อง “เรือนจำสุขภาวะ : จากพื้นที่แห่งการลงโทษสู่ชุมชนแห่งความห่วงใย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ ห้องประชุมสานใจ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย จำนวน 45,141 คน (สำรวจเมื่อ 1 สิงหาคม 2559) มีสถิติสูงที่สุดในโลกถึง 2 ด้านคือ มีอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด และสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงต่อแสนประชากรไทยสูงที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อจำนวนคนมากเกินกว่าที่เรือนจำ/ทัณฑสถานรองรับได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร สาธารณูปโภค และบริการด้านสุขภาพอนามัย ทำให้ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี

“โครงการดังกล่าวช่วยให้ผู้ต้องขังหญิง มีสุขภาวะทางกายและใจดีขึ้น จากการมีโอกาสได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม ได้รับการฝึกอาชีพตามความสนใจ มีพลังชีวิตผ่านการทำงานอิสระและสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเพื่อนและเจ้าหน้าที่” ดร.ประกาศิตกล่าว

Advertisement

สิ่งสำคัญของโครงการคือ การสร้างพื้นที่ทางสังคมที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องขังกับคนภายนอก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังหรือผู้ที่รับการพักโทษ ได้ติดต่อหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนภายนอก ทำให้ชุมชนและสังคมได้เปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับเรือนจำและผู้ต้องขัง

 

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.
รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ

 

Advertisement

ขณะที่ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวในการนำเสนอทิศทางใหม่ของการพัฒนาเรือนจำจาก “พื้นที่แห่งการลงโทษ” สู่การเป็น “ชุมชนแห่งความห่วงใย” ว่าจากการนำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำนำร่อง อาทิ พื้นที่แดนหญิงเรือนจำกลางราชบุรี และพื้นที่แดนหญิงเรือนจำกลางอุดรธานี แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยให้เกิดขึ้นได้จริง โดยบูรณาการแนวคิดของชุมชนแห่งความห่วงใยเข้าไปในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดบริการทันตสุขภาพเชิงรุก การสร้างสุขภาพแบบองค์รวมผ่านการฝึกโยคะ การสร้างพลังชีวิตผ่านการทำงานที่มีคุณค่า การสร้างความสุขผ่านการปลูกผักและต้นไม้ การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเรือนจำ ผ่านการนำเสนอความสามารถและผลงานของผู้ต้องขัง

“กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในเรือนจำคือภาคปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขัง ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน นักวิชาการ และนักวิจัย โดยทุกคนต่างช่วยให้เสริมสร้างชีวิตให้แก่กันโดยไม่เลือกว่าบุคคลนั้นคือใคร เพราะมีความเข้าใจในข้อจำกัดและจุดอ่อนของคนอื่นๆ การสร้างชุมชนแห่งความห่วงใยในเรือนจำ เป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังอย่างยั่งยืน และยังมีส่วนช่วยในการสร้างชุมชนและสังคมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย” รศ.ดร.นภาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

คนข้างในพร้อม คนนอกต้องให้โอกาส

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image