สปสช. จ่อหารือร่วม 3 กองทุนจัดระบบรองรับ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต’ 72 ชั่วโมง

จากกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทำให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาได้โรงพยาบาลทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นของรัฐและเอกชน ภายใน 72 ชั่วโมง จากนั้นจึงจะสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ประชาชนมีสิทธิรักษาพยาบาลอยู่นั้น โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะจัดแถลงข่าวถึงรายละเอียดกรณีดังกล่าวในวันที่ 31 มีนาคมนี้

ความคืบหน้าวันที่ 30 มีนาคม นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากมติดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเดิมทีในเรื่องการเข้ารับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน อาจมีความไม่ชัดเจนว่า กรณีไหนฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน จนทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนกรณีโรงพยาบาลเอกชนเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายังไม่มีกฎหมาย หรือข้อกำหนดชัดเจน แต่เป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป เมื่อครม.อนุมัติ และมีหลักเกณฑ์ มีประกาศกระทรวงชัดเจนก็จะทำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องเข้าร่วมและปฏิบัติตาม คือ หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับบริการ ไม่ว่าสิทธิใดก็ตามต้องได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงก่อนส่งกลับไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของผู้ป่วยนั้นๆ
นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า สำหรับ สปสช.ก็จะมีความชัดเจนในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ โดยเดิมทีเมื่อมีคำร้องเกี่ยวกับการเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉิน ทางสปสช.ก็จะอ้างอิงคำนิยาม เจ็บป่วยฉุกเฉิน(สีแดง) จากสถาบันการแพทย์แห่งชาติ(สพฉ.) ในการปฏิบัติและดำเนินการเรื่องการเบิกจ่ายเงินต่างๆแทนก่อนจะไปเบิกคืนจากกองทุนเจ้าของสิทธิ แต่นับจากนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำนิยามอาการ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะเป็นหน้าที่ของ สพฉ.ในการให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้แทน

“ส่วนสปสช. ยังคงประสานในเรื่องข้อมูลของผู้ป่วย เช่น เมื่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินและเข้ารับการรักษาในรพ.เอกชน ทางสปสช.จะทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินให้ตามตารางข้อกำหนดที่ผ่านมติ ครม. เบื้องต้นเราจะดูแลในกลุ่มผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง และเมื่อพ้นวิกฤตก็จะประสานรพ.ในสิทธิเพื่อหา รพ.เตรียมพร้อมรับกลับคืน ส่วนสิทธิอื่นๆ อย่างสิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราการนั้น เดิมทีสปสช.จะเป็นผู้ประสานจ่ายเงินให้ไปก่อน และไปเบิกคืนกับกองทุน เรียกว่าเป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ แต่ขณะนี้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งต้องหารือร่วมกันสามกองทุนอีกครั้งเร็วๆนี้” นพ.ประจักษวิช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่านับจากวันที่ 1 เมษายน หากมีเรื่องขัดข้องต้องแจ้งหรือสอบถามไปที่ใด นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า จะมีการประสานหารือว่าจะติดต่ออย่างไรต่อไป โดยระหว่างนี้สามารถโทรสอบถามมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และหากต้องประสานไปยังสพฉ. จะไม่ต้องวางสาย โดยจะทำระบบในการเชื่อมโยงข้อมูลให้ทันที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image