นักวิชาการห่วงออก ม.44 ป้องกันอุบัติเหตุสงกรานต์ แม้ดี แต่ไม่ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 แถลงข่าว “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า สงกรานต์ปี 2560” ว่า อุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้คนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 กว่าคน แต่สิ่งที่น่าห่วงของอุบัติเหตุทางถนนคือ ผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น หัวหน้าครอบครัว ผู้ใช้แรงงาน จะเสียชีวิตโดยฉับพลัน ไม่มีโอกาสสั่งเสีย ส่งผลกระทบต่อภรรยา ลูกหลาน บุคคลในครอบครัว โดยประมาณการณ์ความสูญเสียทั้งปีจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งทำให้รายได้ของประเทศไทยไม่เพิ่มขึ้น

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จำนวนผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้พิการทั่วประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการเมาสุรา อย่างช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 พบว่า เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,447 ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,656 ราย สาเหตุอันดับหนึ่งมาจากการเมาสุราร้อยละ 34.09 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 32.93 อย่างไรก็ตาม การเจ็บตายจากอุบัติเหตุถือเป็นโรคที่ป้องกันได้ คือ อย่าขับรถเร็ว ขับต้องสวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย หากดื่มต้องไม่ขับ ซึ่งหากดำเนินการตามนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุมากถึง 70-80%

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.ออกมาตรา 44 ในการช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุ เช่น การบังคับเข็มขัดนิรภัยในผู้โดยสารตอนหลังในรถทุกประเภท ความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถตู้สาธารณะ มีมาตรการลงโทษหากไม่เสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังกฎหมายออกมาไม่ใช่ว่าอุบัติเหตุจะลดลง แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องมีทั้งกำลังคน เครื่องมือ และสิ่งสนับสนุนอีกมากมาย ดังนั้น มองว่ากระบวนการบังคับใช้กฎหมายยังต้องใช้เวลา แต่ที่ห่วงคือ ม.44 ที่ออกมามีผลกับรถจักรยานยนต์ค่อนข้างน้อย ทั้งที่การเสียชีวิตกว่า 80% เกิดจากรถจักรยานยนต์ จึงคาดว่า แม้จะมี ม.44 ออกมา พฤติกรรมใช้รถใช้ถนนของประชาชนจะไม่ต่างจากเดิม การตายจากท้องถนนไม่น่าจะลดลง

“ปัจจุบันพบว่า คนเป็นล้านๆ คนยังคงทำผิดกฎจราจร อย่างประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ประมาณ 20 ล้านคัน มีคนสวมหมวกกันน็อกไม่ถึง 50% คือประมาณ 10 ล้านคนไม่สวมหมวกกันน็อก” นพ.วิทยา กล่าว

Advertisement

พ.ต.อ.ชาญศิริ สุขรวย รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า การลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนคือ การบังคับใช้กฎหมาย โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 จะมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 88,442 นาย ทำงานดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ระยะแรก ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนสงกรานต์ วันที่ 27 มีนาคม – 10 เมษายน จะบังคับใช้กฎหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงโอกาสที่จะถูกจับกุม ส่วนระยะที่สองคือช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ คือ 1.ความผิดเกี่ยวกับการดื่ม และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะจะดูแลเป็นพิเศษ

3.ยึดใบขับขี่ หรือเก็บรักษารถชั่วคราว กรณีการแข่งรถ ดื่มแล้วขับทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 4.ฟ้องเพิ่มโทษกับผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราที่กระทำผิดซ้ำ 5.ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุ และ 6.สุ่มตรวจจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง ไม่ให้เล่นน้ำขณะรถเคลื่อนที่ ให้จอดรถเล่นน้ำ โดยจะเน้นหนักวันที่ 13-15 เมษายน ซึ่งหวังว่าจะช่วยบรรเทาอุบัติเหตุที่จะเกิดบนท้องถนนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image