“รุ่งโรจน์” แจงฝ่ายค้าน ปม”พระศรีสรรเพชญ์” งัดภาพพระพุทธรูปอยุธยาโชว์ ปลื้มสังคมร่วมถกเถียง

สืบเนื่องกรณี ผศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า พระพักตร์ของพระศรีสรรเพชญ์ สมัยอยุธยา น่าจะมีพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยพระหัตถ์ขวาที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดเบญจมบพิตรฯซึ่งไม่เหมือนกับเศียรใหญ่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเสนอในหนังสือ “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 เมษายน ผศ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่สังคมสนใจประเด็นเรื่องพระศรีสรรเพชญ์ และขอขอบคุณ ผศ.พิชญาที่ร่วมนำเสนอรูปแบบพระพัตร์ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า พระพุทธรูปสมัยอยุธยา มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นก็คือรูปแบบที่คล้ายคลึงกับเศียรใหญ่ที่ตนนำเสนอ

“ถามว่าทำไมลักษณะพระพักตร์ของเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ผมเสนอว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ เหตุใดจึงไม่เหมือนกับพระพุทธรูป อย่างพระพักตร์ของพระมงคลบพิตรที่เสนอว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ผมขอตอบดังต่อไปนี้ 1. เนื่องจากในช่วงพ.ศ. 1950 ลงมา อยุธยาได้รับอิทธิพลจากพุทธศิลปะของราชวงศ์มังราย รวมถึงพระพุทธรูปในเขตภาคกลางตอนบน ดังนั้นถ้าพระพุทธรูปอยุธยาตอนกลางจะมีพระพักตร์หลากหลายจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประการใด 2. ถ้าอ้างว่าเหตุใดจึงไม่ใกล้เคียงพระมงคลบพิตรที่เชื่อว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ท่านพึงกลับไปพิจารณาตัวอย่างพระพุทธพระพุทธสำริดที่พบอยู่ในองค์พระมงคลบพิตรก็มีลักษณะพระพักตร์ที่คล้ายกับเศียรที่ผมเสนอว่าเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งพระพุทธรูปเหล่าเมื่อบรรจุอยู่ในองค์พระมงคลบพิตร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อย่างน้อยก็ต้องสร้างขึ้นก่อนองค์พระมงคลบพิตร”. ผศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement

(ซ้าย) พระพุทธรูปทรงเครื่อง ลักษณะพระพักตร์มีความคล้ายกับพระเศียรที่ผู้เขียนเสนอว่าเป็นพระศรีสรรเพชญ์ พิจารณาจากเครื่องทรงสามารถกำหนดอายุว่าเป็นพระพุทธรูปอยุธยาตอนกลาง
(ขวา)
พระพุทธรูปที่พบอยู่ภายในองค์พระมงคลบพิตร ลักษณะพระพัตรมีความแป้น พิจารณาจากขาสิงห์ที่หล่อติดกับองค์พระยังมีความใกล้เคียงขาสิงห์หน้าวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image