ถึงอยากอ่านก็ใช่จะหาซื้อได้ วิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์กับแผงขายหนังสือสองแควที่กำลังจะหายไป

ท่ามกลางข่าวการปิดตัวและปลดพนักงานของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในปัจจุบันที่นับเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะวิกฤตธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างชัดเจนนั้น อีกด้านหนึ่งของธุรกิจคือการจัดจำหน่ายและการบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ก็กำลังเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าวเช่นกัน เมื่อพบว่าแผงขายหนังสือพิมพ์และการอ่านหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัดก็อยู่ในสภาวะย่ำแย่เพราะคนอ่านน้อยลง ขณะที่คนอยากอ่านก็หาซื้ออ่านยากขึ้น เมื่อแผงขายก็พากันทยอยปิดตัว และไม่ใช่ธุรกิจที่น่าลงทุนอีกต่อไป

จากการลงพื้นที่สำรวจแผงขายหนังสือพิมพ์บริเวณรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ของนิสิตภาควิชานิเทศศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา พบว่าแผงขายหนังสือพิมพ์หลายแห่งได้เลิกกิจการไป ส่งผลให้นิสิต คณาจารย์ และคนที่รักการอ่านหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งหาซื้อหนังสือพิมพ์อ่านยากขึ้น บางคนต้องนั่งรถเข้าไปซื้อถึงในเมือง ขณะเดียวกันแผงหนังสือที่มีอยู่ก็เหลือน้อยมาก ส่วนร้านสะดวกซื้อชั้นนำก็มีเพียงบางร้านเท่านั้นที่รับมาขายเพียงบางฉบับ และในปริมาณที่น้อยมาก

น.ส.เบญจวรรณ นาคนัตถ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติร่มเสลา ภาควิชานิเทศศาสตร์ สาขาหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่สุ่มสำรวจการจำหน่าย และการบริโภคหนังสือพิมพ์รายวันของคนพิษณุโลก โดยเฉพาะในบริเวณรอบมหาวิทยาลัยที่คาดหวังว่าจะมีแผงหนังสือพิมพ์ขายจำนวนมาก รวมถึงในเมืองพิษณุโลก ในฐานะที่เป็นจังหวัดศูนย์กลางการศึกษาภาคเหนือตอนล่าง เพื่อพิสูจน์สภาวะวิกฤตของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในต่างจังหวัดว่าจะเป็นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในส่วนกลางระดับประเทศหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีข่าวเรื่องวิกฤตหนังสือพิมพ์ในแง่มุมต่างๆ ตลอดมา ซึ่งจากการสรุปผลการสำรวจก็น่าตกใจมากว่า แผงหนังสือลดน้อยลงไปจริงๆ รวมถึงยอดรับมาจำหน่าย และยอดคนอ่านที่เป็นต้นเหตุด้วย

Advertisement

โดยเฉพาะบริเวณรอบมหาวิทยาลัยในแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ประตู 4 ประตู 5 และประตู 6 นั้นมีแผงขายหนังสือเล็กๆ เพียงแผงเดียว ขณะที่ภายในมหาวิทยาลัยแม้จะมีร้านหนังสือใหญ่ถึง 2 ร้านคือ ศูนย์หนังสือจุฬา สาขา ม.นเรศวร และเสียงทิพย์บุ๊คเซ็นเตอร์ สาขา ม.นเรศวร แต่ก็พบว่าทั้ง 2 ร้านรับหนังสือพิมพ์มาจำหน่ายวันละไม่ถึง 10 ฉบับ และขายไม่หมด ขณะที่ร้านสะดวกซื้อมีเพียง “7-11” เท่านั้นที่รับเฉพาะหนังสือพิมพ์แนวประชานิยม เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ และข่าวสด มาขายในจำนวนน้อย และมักจะขายไม่หมดเช่นกัน ขณะที่ “โลตัสเอ็กซ์เพรส” เลิกรับมาขายนานแล้ว รวมถึง “108ช็อป” ที่ไม่ขายหนังสือพิมพ์

ขณะที่แผงขายหนังสือพิมพ์ในตัวเมืองพิษณุโลก จะหาซื้อได้ก็เฉพาะจุดสำคัญของเมืองเท่านั้น เช่น ที่สถานีรถไฟ วงเวียนน้ำพุ หรือตลาดโคกมะตูม เป็นต้น จากการสอบถามป้ามาลี เจ้าของแผงหนังสือที่ประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 20 ปี ที่ตลาดโคกมะตูม ตลาดเก่าแก่ในจังหวัดพิษณุโลกบอกว่า เมื่อก่อนแผงขายหนังสือพิมพ์มีมากกว่านี้ แต่ด้วยพฤติกรรมคนอ่านหนังสือพิมพ์ที่เปลี่ยนไป ข่าวสารทุกๆ อย่าง ไปรวมอยู่ที่โทรศัพท์มือถือแค่เครื่องเดียว ทำให้แผงหนังสือพิมพ์ ต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นเพื่อความอยู่รอด

Advertisement

ป้ามาลีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนจะรับหนังสือพิมพ์มาขายหัวละ 100 ฉบับบ้าง 80 ฉบับบ้าง แต่เดี๋ยวนี้รับมาหัวละ 20 ฉบับ ก็ยังขายไม่หมดเลย แต่นิตยสารอื่นๆ ยังขายได้อยู่นะ”
เช่นเดียวกับ คุณลุงอุดม พ่อค้าแผงหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ซึ่งประกอบอาชีพนี้มาแล้วกว่า 30 ปี ได้ให้ข้อมูลว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงของหนังสือพิมพ์มานาน ตั้งแต่ยุคที่หนังสือพิมพ์รุ่งเรือง แผงร้านค้าต่างๆ แย่งกันขายหนังสือพิมพ์ แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงลุงอุดมกับป้ามาลีที่ยังยึดมั่นในการขายหนังสือพิมพ์ ถึงแม้คนอ่านจะน้อยลงก็ตาม

“มีเจ้าของแผงที่เคยขายหนังสือพิมพ์ร่วมกันมา เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนอาชีพไปขายขนมจีนแล้วล่ะ ไม่งั้นอยู่ไม่ได้” ลุงอุดมให้ข้อมูลเสริมยืนยันถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ขณะที่ร้านเสียงทิพย์บุ๊คเซ็นเตอร์ ร้านหนังสือแห่งใหญ่ในจังหวัดพิษณุโลก ก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อก่อนรับหนังสือพิมพ์มาเป็น 1,000 ฉบับ แต่ในปัจจุบัน เหลือเพียง 800 ฉบับ และขายไม่หมด แล้วต้องส่งคืนสำนักพิมพ์เช่นกัน ส่วนย่านตลาดร่วมใจ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในจังหวัดที่ชาวพิษณุโลกรู้จักเป็นอย่างดี กลับพบว่าไม่มีแผงขายหนังสือพิมพ์เลย

นอกจากนี้ทีมสำรวจยังพบว่า จุดบริการอ่านหนังสือพิมพ์ดั้งเดิมเช่น ร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายของชำ หรือร้านเสริมสวยเอง ปัจจุบันก็ลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ให้บริการไปแล้วจำนวนมาก เท่าที่ยังมีให้บริการอยู่ เช่น ร้านกาแฟ ร้านข้าวมันไก่ และร้านเสริมสวยบางร้านบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็เป็นเพราะเจ้าของร้านยังชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะที่ต้องซื้อติดมือจากในเมืองเข้ามาให้บริการเองเพราะไม่สามารถหาซื้อจากร้านใกล้บ้านได้

ผศ.ดร.พูนสุข ภระมรทัต อาจารย์ประจำสาขาหนังสือพิมพ์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะวิกฤตของสื่อหนังสือพิมพ์ยุคนี้ว่า เป็นภาวะเปลี่ยนแปลงที่มีสื่อใหม่ สื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เข้ามาให้ข้อมูลข่าวสารแทนที่สื่อหนังสือพิมพ์ เพราะไม่เพียงมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามากเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อที่สะดวก และเข้าถึงง่ายด้วย แต่ก็ยังเชื่อว่าหนังสือพิมพ์รายใหญ่จะปรับตัว และอยู่ต่อไปได้

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ยอมรับว่าทุกวันนี้หาซื้อหนังสือพิมพ์ยากมาก เพราะการเข้ามาแทนที่ของโซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้าถึงง่ายกว่า แต่สื่อสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์บางประเภทจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับบางคนแล้วยังเป็นเรื่องของรสนิยมที่นอกเหนือจากประโยชน์เชิงข้อมูลข่าวสารด้วย อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ในยุคนี้ต้องมองไปให้ไกลกว่าที่เป็นสื่อกระดาษแล้ว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ก็ยังนับว่าเป็นหนังสือพิมพ์เช่นกัน

รายงานโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ร่มเสลา ม.นเรศวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image