รุมท้วงทางเลียบเจ้าพระยา ชี้เจอ “ความผิดปกติ” อื้อ ยันผลกระทบมหาศาล แนะชะลอ-ฟังเสียงปชช.

เมื่อวันที่ 5 เมษายน เวลา 11.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดงานแถลงข่าว “สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ ข้อทักท้วงและประเด็นทางกฎหมายที่มีต่อ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”  โดยมีผู้ร่วมแถลงจากหลายภาคส่วน  อาทิ สมัชชาแม่น้ำ, สมาคมสถาปนิกสยาม, สมาคมวิศวกรแห่งประเทศไทย, กลุ่มคนรักแม่น้ำเจ้าพระยาและมรดกไทย เป็นต้น

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พวกเราไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับรัฐ ตรงกันข้าม ยังให้คำปรึกษากับรัฐอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ อยากกราบขอร้องด้วยความเคารพ ขอให้ชะลอก่อน แล้วเปิดกระบวนการรับฟังอย่างมีส่วนร่วม

 นายไกร ตั้งสง่า สมาชิกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ตนมาดี มาด้วยจิตอันเป็นกุศล จะพูดเรื่องกฎหมายอย่างเดียว ทั้งนี้ ตนไม่เคยว่าอะไรเลย เรื่องการพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นกฎหมาย กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 75 เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามรัฐแข่งขันกับเอกชน แต่โครงการนี้กลับให้สถาบันการศึกษาแข่งกับเอกชนในการรับงานดังกล่าว นอกจากนี้ พรบ.45 เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัย  เกี่ยวข้องกับสภาสถาปนิก สภาวิศวกร เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ใดที่ไม่มีประกอบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ทำงานประเภทนี้ ดังนั้น หากจะทำโครงการดังกล่าว ต้องมีใบอนุญาต ไม่ใช้ว่าให้ใครก็ได้มาทำงาน ถามว่า เหตุใดสถาบันการศึกษาซึ่งไม่มีใบอนุญาตจึงมาแอบอ้างในการรับงานได้

Advertisement

นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการนี้ วิศวกรมีส่วนในการออกแบบมากที่สุด ซึ่งบอกได้เลยว่าวิศวกรจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับโครงการ ทั้งนี้ มีคนปล่อยข่าวว่าเราเป็นพวกเอ็นจีโอ ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนทำงานให้รัฐบาล เป็นกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งได้พบกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประจำ ขอเรียนว่าเป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีอยากทำจริง แต่ไม่ได้ต้องการทำอะไรที่เสียชื่อ ตั้งใจจะเป็นของขวัญให้คนกรุงเทพฯ ตนก็มีโอกาสได้แจ้งว่ามีผู้คัดค้านว่าโครงการนี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน อีกทั้งส่งผลต่อสถานที่สำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง อาทิ วัดวาอารามและรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งออกแบบไว้กันคนโกงไม่ให้เข้าสภา หรือเข้าไปแล้วก็ถูกสาปแช่งจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอาคาร แต่ตอนนี้ยังสร้างไม่เสร็จ คนโกงจึงยังทำงานได้อยู่

“คิดดูว่าจะมีเสาเข็มตอกลงในแม่น้ำมากกว่าพันต้น จะส่งผลกระทบแค่ไหน ต่างประเทศมีการวิจัยว่าการกระทำเช่นนี้จะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอย่างไร แต่ของเราไม่ต้องศึกษาเลย อยากจะตอกก็ตอก นอกจากนี้ จะกระทบต่อการระบายน้ำด้วย นี่ยังไม่รวมถึงทำลายสายตาของนักท่องเที่ยว ที่จะเห็นแต่ปั้นจั่นไปอีกไม่รู้อีกกี่ปี แม้วิศวกรจะเป็นพวกที่ไม่รู้ว่าความงามคืออะไร แต่อันนี้ชัดเจนว่าเมื่อเสร็จแล้วจะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดที่สุด วิศวกรส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน” นายต่อตระกูลกล่าว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ในนามกลุ่มคนรักแม่น้ำเจ้าพระยาและมรดกไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ไม่มีการทำรายงานผลกระทบเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวเลย ส่วนตัวมีธุรกิจโรงแรม ซึ่งเมื่อได้คุยกับกลุ่มภาคธุรกิจด้วยกัน ทุกคนงง กลัว และช็อค เชื่อว่าจะส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ เนื่องจากทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม มลภาวะ และสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไป คลื่นที่สูงขึ้น อาจส่งผลต่อเรือที่จะจอดเทียบท่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทั่วโลกต้องการสัมผัสโบราณสถานและวัฒนธรรมริมน้ำ การล่องเรือเป็นจุดขาย หากโครงการนี้สำเร็จ จะเห็นถนนแทนวัดวาอาราม นอกจากนี้ กทม.ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะดูแลถนนนี้อย่างไร จะมีไฟส่องสว่างหรือไม่ อยากฝากว่าถ้าจะพัฒนาแม่น้ำ ควรมีการบูรณาการ รักษาชุมชนริมแม่น้ำ คนรณรงค์ให้คนไทยไปเที่ยวริมน้ำมากขึ้น

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี

นายสุธีย์ สุภาพร จากสมาคมเรือไทย กล่าวว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ เชื่อว่าการเดินเรือจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว เนื่องจากต้องรอหลีก และสวนกัน โดยเฉพาะบริเวณสะพานต่างๆ เวลาที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก การที่มีผู้กล่าวว่าเรือท่องเที่ยวไม่ต้องเร่งร้อน ไม่ต้องคำนึงถึงเวลานั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากหากอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวจะทราบว่า ต้องวางแผนการเดินทางให้ชัดเจน เรือต้องเทียบท่า ขึ้นฝั่งกี่โมง ถึงจุดไหนกี่โมง หากลูกค้าพลาดเที่ยวบินเพราะมาถึงฝั่งล่าช้า จะทำอย่างไร

นายยศพล บุญสม จากสมัชชาแม่น้ำ อ่านแถลงการณ์เรื่อง “สิทธิพลเมืองเพื่อปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยา” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า สมาคมวิชาชีพและเครือข่ายต่างๆมีความกังวลอย่างยิ่ง เพราะจากการเฝ้าติดตามข้อมูลต่างๆของโครงการมาโดยตลอดตั้งแต่ธันวาคม 2557 ได้พบความผิดปกติที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงการไม่เปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะอย่างรอบด้าน ทั้งที่ส่งผลกระทบมหาศาล แต่กลับเดินหน้าให้มีการประมูล ถือว่าละเมิดสิทธิ ประชาชนในข้อมูลข่าวสารและการแสดงความเห็น รวมถึงการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีการปฏิบัตตามข้อท้วงติงของสมาคมวิชาชีพ

นอกจากนี้  ทีโออาร์ยังมีปัญหา ชี้ชัดว่าเป็นทางเลียบแม่น้ำ ขาดการศึกษาทางเลือกที่หลากหลาย ให้เวลาศึกษารวบรัด แค่ 7 เดือน ไม่พบการทำแผนแม่บทที่ครบถ้วน ขาดการบูรณาการ ไม่พบการศึกษาครบถ้วนตามสาระสำคัญของทีโออาร์ โดยเฉพาะด้านชลศาสตร์ เป็นการด่วนสรุป โดยยังไม่ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานจำนวนมาก แต่กทม.กลับเดินหน้าให้ประมูล อีกทั้ง ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องแถลงการณ์ มีผู้เข้ารับฟังจำนวนมาก รวมถึงมีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายราย ร่วมแสดงความคิดเห็นอาทิ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร , นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ , นายจุลจักร จักรพงษ์ หรือ ฮิวโก้ นักร้อง นักแสดงชื่อดัง, นายกฤษดา สุโกศล หรือ น้อย วงพรู เป็นต้น รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคประชาชนมากมาย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image