กรมสุขภาพจิต เผยข้อมูล ‘เม.ย.-พ.ค.’ พบฆ่าตัวตายสูง เหตุอากาศร้อนบวกโรคซึมเศร้า

เมื่อวันที่ 5 เมษายน  ที่กรมสุขภาพจิต นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย น.ต. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในวันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี โดยในปี 2560 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ว่า “Depression, Let’s talk: ซึมเศร้า…เราคุยกันได้”

นพ.โสภณ กล่าวว่า โรคซึมเศร้า ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน แต่ก็สามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ว่าประชากรโลกมากกว่า 300 ล้านคน หรือร้อยละ 4  เป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 20.4 โดยผู้ป่วยวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าผู้สูงอายุ ส่วนประเทศไทยพบผู้ป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หรือร้อยละ 2.5 ของประชากรไทย ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า ทั้งนี้ความเข้าใจของคนรอบข้าง ครอบครัว สังคมคือสิ่งสำคัญ กระทรวงจึงรณรงค์ 5 มาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า คือ 1. ลดอคติ สร้างความตระหนัก สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง 2. เร่งค้นหา และป้องกันผู้มีความเสี่ยง 3. ลดระยะเวลาความรุนแรงของโรค 4. ป้องกันการฆ่าตัวตาย และ 5 ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

“ส่วนอาการบอกเหตุของโรคดังกล่าวมี 9 ข้อ คือ 1. ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว 2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง 3. ไม่มีสมาธิ 4. อ่อนเพลีย 5. เชื่องช้า 6. รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง 7.นอนหลับมากขึ้นหรือน้อยลง 8. ตำหนิตัวเอง 9 พยายามฆ่าตัวตาย หากมีอาการเหล่านี้ถึง 5 ข้อ ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า” นพ.โสภณ กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง และส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวคือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ติดสุรา สารเสพติด กลุ่มผู้สูญเสียบุคคลที่รัก หรือของที่รัก อย่างไรก็ตามเรื่องของการฆ่าตัวตายสำเร็จนั้นอัตราการเกิดในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากอดีต แต่ที่เห็นช่วงนี้มีการฆ่าตัวตายเยอะนั้น เรียนว่ามีส่วนสัมพันธ์กับฤดูกาล ในต่างประเทศจะเป็นหน้าหนาว ส่วนประเทศไทยจะเป็นหน้าร้อน หรือช่วงเดือนเมษายน –พฤษภาคม พบมากสุด เพราะเครียดจากหลายอย่าง ประกอบกับซึมเศร้า อย่างไรก็ตามการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายก็มีส่วนทำให้เกิดการเลียนแบบการฆ่าตัวตายเหมือนกัน และยังพบว่าการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นช่วงเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองนั้นขอกลุ่มเสี่ยงงดดื่ม

Advertisement

ด้าน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า การที่ผู้หญิงมีเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายนั้นสาเหตุยังไม่มีความแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเป็นเพราะฮอร์โมนเพศมีความแตกต่างกัน ระบบสารสื่อประสาทและอาการมีความแตกต่างกัน ประกอบกับผู้หญิงมีความเครียดทั้งการทำงาน และการดูแลลูก ดูแลครอบครัวมากกว่า

//////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image