อ.นิด้า จวกยับ รพ.ขาดทุนมากกว่า 5 แห่งแน่นอน จี้ สปสช.ปรับเกณฑ์จ่ายเงิน

นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยงคณะสถิติประยุกต์ ผู้อำนวยการ ศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า สถานการณ์ด้านการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตอนนี้บอกได้เลยว่าน่ากังวล รอวันฝีแตก อย่างโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ซึ่งมีเงินบำรุงกว่า 1,600 ล้านบาท แค่ครึ่งปีตอนนี้หายไป 500 ล้านบาท ถ้าบริหารไม่ดีอีกปีเดียวคงเหลือศูนย์บาท และติดลบในที่สุด ตอนนี้ยังมีความเข้าใจผิดคำว่าขาดทุน กับขาดสภาพคล่องหรือไม่ คำว่าขาดทุนคือรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่วนขาดสภาพคล่องคือ การที่มีเงินหมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียน ปัญหาคือ ขาดทุนก็ต้องควักเนื้อจ่ายไปเรื่อยๆ และโรงพยาบาลกระทรวงมีปัญหาเรื้อรังมานาน

“ปัจจุบันขาดสภาพคล่องหรือติดลบ 86 โรงพยาบาล มากกว่า 5 แห่ง แน่นอน ถ้ารัฐมนตรีว่าการสธ. บอกว่าไม่มีปัญหาก็ช่วยจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) ที่ค้างอยู่กว่า 6 เดือนด้วย จริงๆ เรื่องนี้ผู้บริหารรับรู้อยู่แล้ว” นายอานนท์ กล่าว

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ปัญหามาจากการเข้าสูู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ คนป่วยมากขึ้น ในขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้โรงพยาบาลหากเป็นผู้ป่วยนอกก็จะเหมาจ่าย เบิกเพิ่มไม่ได้ ส่วนผู้ป่วยในก็จ่ายตามแบบกลุ่มรักษาโรคร่วม (ดีอาร์จี) งบบัตรทองเป็นแบบปลายปิด แต่เพิ่มสิทธิประโยชน์จำนวนมากเพื่อหาเสียง สุดท้ายไปไม่รอด หากยังบริหารแบบนี้แค่ครึ่งปีโรงพยาบาลเสียหาย ดังนั้นต้องสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ประชาชน ท้องถิ่น ท้องถิ่นเงินเยอะแต่กฎหมายไม่เอื้อ อาจจะต้องมาคุยกัน หรือให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ จ่ายครั้งละ 100 บาท แล้วสามารถลดหย่อนภาษี 2-3 เท่า ตรงนี้ก็จะช่วยให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องสุขภาพตัวเอง มาพบแพทย์เมื่อจำเป็น และลดขนาดสปสช.ลง เพิ่มอำนาจการบริหารงานแบบเขตสุขภาพ ให้เป็นนิติบุคคล สปสช.ไม่ต้องเข้าไปก้าวก่ายงานของเขตสุขภาพ แค่บอกความต้องการและส่งเงินก้อนลงมา ยกเลิกกองทุนย่อยของสปสช. ปล่อยให้เขตสุขภาพบริหาร ดูแลกันเองเพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาแตกต่างกัน

ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ข้อมูลโรงพยาบาลขาดทุนที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลของสธ. ที่รัฐมนตรีว่าการสธ.ระบุถึง เพียงแต่มองกันคนละมุม ข้อเท็จจริงการเงินของโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีขึ้น ลงแตกต่างกันในช่วงปีเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัย ซึ่งก็เป็นแบบนี้มานาน จึงคิดว่าจะอยู่เฉยไปเรื่อยๆ คงไม่ดี การจ่ายเงินของสปสช.น้อยกว่ารายจ่าย ถ้าจะให้ดีอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สธ.สปสช.กระทรวงการคลังมาร่วมกันคิดใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และเปิดช่องให้โรงพยาบาลหารายได้เองมากกว่านี้ เพราะถ้ารอเงินจากสปสช.อย่างเดียวไม่มีวันพอ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image