กรมอุทยานฯสั่งการทุกพื้นที่รับมือแล้งหวั่น”สัตว์อด”กุยบุรีขนน้ำเลี้ยงช้าง-กระทิง วันเว้นวัน

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า กรมอุทยานฯเตรียมการรับมือในในเรื่องสัตว์ป่าขาดน้ำอยู่แล้ว โดยเจ้าของพื้นที่ หรือหัวหน้าอุทยานฯแต่ละแห่งก็จะรู้ถึงสถานการณ์ในพื้นที่อยู่แล้ว หากพื้นที่ไหนไม่สามารถรับมือได้ก็จะแจ้งมายังส่วนกลางเพื่อขอรับความช่วยเหลือทันที ทั้งนี้แต่ละแห่งก็มีแผนการของตัวเองอยู่แล้ว เพราะตามแผนงานประจำปี ทุกพื้นที่จะต้องสำรวจถึงปัญหานี้ วางแผนแก้ไข และลงมือดำเนินการ

IMG_2424

“พื้นที่ ที่มีปัญหาทุกครั้งที่แห้งแล้งแรงๆ เช่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หรือแก่งกระจาน ซึ่งมีพื้นที่กว้างมาก และมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ทั้ง ช้าง กระทิง วัวแดง จำนวนมาก เราก็ไปทำกะทะใส่น้ำ เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ออกมากิน ทำเอาไว้บริเวณขอบๆป่า มีรถบรรทุกน้ำคันเล็กเข้าไปเติมน้ำแบบวันเว้นวัน มีช้าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง และนก มากิน ส่วนที่เป็นปัญหามากๆอย่างที่บริเวณป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่จะมีช้างป่าออกมาทำลายพืชผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งเกรงกันว่า ช่วงหน้าแล้ง ช้างจะออกมาหนักกว่าเดิมนั้น ตอนนี้ คูกันช้างที่เราไปทำไว้รอบพื้นที่ 200 กิโลเมตรก็ใกล้จะเสร็จแล้ว เรามีการไปปลูกพืชอาหารช้าง และทำกะทำน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ด้วย คาดว่าปัญหานี้จะค่อยๆซาลงเรื่อยๆ ที่สำคัญเวลานี้ กำลังทดลองทำโครงการ เลี้ยงผึ้งไล่ช้าง ทางภาคเหนืออยู่ หากได้ผลดีจริงก็จะเอามาทำที่พื้นที่ป่ารอยต่อด้วย”นายธัญญา กล่าว

IMG_2436

Advertisement

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น คงยังไม่ถึงขั้นแห้งแล้งขาดน้ำ น้ำตกเหวสุวัตร ยังพอมีน้ำไหลอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นไหลโกรกเหมือนช่วงหน้าฝน อย่างไรก็ตามได้สั่งการหัวหน้าอุทยานทุกแห่งแล้วกรณีเหตุการณ์คับขัน ต้องดำเนินการตามความเหมาะสมทันที เช่น กรณีที่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และแก่งกระจาน คือ การเอารถบรรทุกน้ำเข้าไปเติมน้ำในแหล่งน้ำอุทยานฯสำหรับงบประมาณที่จะเข้าไปดำเนินการตรงนี้ก็ไม่มีปัญหา เพราะกรมอุทยานฯมีเงินรายได้อยู่แล้ว สามารถใช้งบประมาณส่วนนั้นดำเนินการเลย

IMG_2439

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ที่ดูแลเรื่องสัตว์ป่า งานดูแลสัตว์ป่าในช่วงฤดูแล้งนั้นแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการ และระยะสำรวจพื้นที่ ซึ่งได้ทำกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เตรียมดำเนินการว่าทั่วประเทศมีพื้นที่ไหนที่เป็นที่แล้งซ้ำซากและมีปัญหาทุกปี ที่สัตว์ป่าได้รับผลกระทบจากเรื่องภัยแล้ง ซึ่งในความจริงแล้ว พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่เป็นป่าสมบูรณ์ มีส่วนน้อยมากที่สัตว์ป่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนระยะที่ 3 คือ พื้นที่ไหนที่มีปัญหาก็เข้าไปขุดบ่อขนาดตื้น แต่กว้าง เพื่อสัตว์ได้ออกมากินได้ หรือเข้าไปทำฝายน้ำล้น เพื่อขยายพื้นที่ให้น้ำกระจายออกมาให้มากที่สุด ซึ่งเวลานี้ก็ได้ทำไปแล้วหลายพื้นที่ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

Advertisement

“อย่างที่กุยบุรีนั้นเราไปทำกะทะใส่น้ำเอาไว้ให้สัตว์กิน เป็นกะทะที่บรรจุน้ำได้ประมาณ 12,000 ลิตร มีกระจายอยู่บริเวณชายป่าทั้งหมด 16 กะทะ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเอารถบรรทุกน้ำเข้าไปเติมทุกๆ 2 วัน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์ก็พบว่า มีช้าง กระทิง วัวแดง นก เข้ามาใช้บริการเราเป็นประจำ ซึ่งก็จะทำแบบนี้ไปจนถึงฤดูฝน”นายอดิศร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image