กรมสวัสดิการฯ คาดโทษ ‘นายจ้าง’ หักค่า ‘เครื่องแบบ-ยึดบัตรประชาชน’ รปภ.

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีข่าวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) บางส่วนถูกนายจ้างหักค่าชุดทำงาน ค่าเช่าห้อง ยึดบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันการทำงาน ว่า นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต่างๆ ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายใดๆ มาหักจากค่าจ้างของลูกจ้างได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดห้ามนายจ้างหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่การหักเพื่อ 1.ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ 2.ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน 3.ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง 4.เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และ 5.เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม แต่การหักเงินจากลูกจ้างทั้ง 5 ประเภท ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเท่านั้น หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถูกยึดบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะตำแหน่ง รปภ.ถือว่านายจ้างมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างได้ 3 ประเภท คือ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล ซึ่งการเรียกหลักประกันจะต้องไม่เกินวงเงิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างได้รับ” นายสุเมธ กล่าวและว่า หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนและเรียกร้องสิทธิประโยชน์คืนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประะเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image