ว่อนโซเชียลฯ ‘คลิปยืนคลอด’ สูติ-นรีแพทย์เตือนอันตรายเสี่ยงตายทั้งแม่และลูก

เมื่อวันที่ 11 เมษายน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลพิจิตร และโฆษกแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์คลิปยืนคลอดแพร่กระจายในสังคมออนไลน์ จนอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าทำได้อย่างปลอดภัย จริงๆ แล้วกว่าจะคลอดลูกได้ โดยเฉพาะท้องแรกใช้เวลาถึง 8-10 ชั่วโมง จึงไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงแล้วในคลิปที่มีการแพร่กระจายในโซเชียลมีการเตรียมอะไร อย่างไรบ้าง หรือเป็นคลิปที่โชว์อย่างเดียว อาจไม่จริงทั้งหมดก็ได้ ปัญหาคือ อาจมีคนไปเลียนแบบ ในฐานะสูติ-นรีแพทย์ การยืนคลอด หรือคลอดเองโดยไม่ผ่านการตรวจจากแพทย์ ไม่ผ่านการฝากครรภ์พบว่า ร้อยละ 20 อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตลูกและแม่ทีเดียว ซึ่งการคลอดลูกมีองค์ประกอบหลายประการ คือ แม่ต้องแข็งแรง ต้องไม่มีภาวะซีด ไม่มีเบาหวาน ความดันสูง และการตั้งครรภ์ต้องปกติ คือ รกต้องปกติ เกาะด้านบน ไม่ขวางด้านล่าง เพราะเสี่ยงตกเลือด และเด็กต้องอยู่ในท่าปกติ เด็กต้องออกมาโดยเอาหัวลงเป็นส่วนนำ แต่หากเด็กอยู่ท่าขวาง หรือหัวอยู่ข้างบน การคลอดไม่ปกติ เด็กอาจยื่นขาออกมาก่อนส่วนหัว หรือขวางออกมา ขณะที่เบ่งคลอด มดลูกอาจแตกได้ ทำให้แม่และลูกเสียชีวิตได้ ดังนั้น คนที่ยืนคลอดคือ ต้องตั้งครรภ์ปกติ และแม่แข็งแรงมากๆ การจะทราบได้ คือ แม่ต้องฝากครรภ์นั่นเอง

“การคลอดในปัจจุบัน สิ่งที่ประชาชนต้องทราบคือ ไม่ใช่เรื่องปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลที่ผ่านมาพบว่ามีหญิงไทยที่คลอดลูกเสียชีวิตปีละ 100 กว่าคนจากการตกเลือดเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะคนที่มีภาวะซีด จริงๆ แล้วตัวเลขนี้ยังน้อยกว่าตัวชี้วัดของประเทศไทยภาพรวมที่ระบุว่า ต้องไม่เกิน 20 คนต่อแสนการคลอด โดยเรามีการคลอด 7 แสนคน แสดงว่าปีหนึ่งจะมีภาวะแม่คลอดเสียชีวิตได้ประมาณ 140 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 70 ต่อแสนการคลอด อย่างไรก็ตาม แม้การตายจะยังไม่เกินตัวชี้วัด แต่ก็ถือว่าน่าตกใจ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มชายขอบที่มีการคลอดสูง ไม่มีการวางแผนครอบครัว ไม่มีการฝากครรภ์ หรือการเดินทางลำบาก อย่างเกิดภาวะตกเลือด กว่าจะเดินทางไป รพ.ซึ่งห่างไกลก็ไม่ทัน” พญ.ชัญวลีกล่าว และว่า การจะลดภาวะอันตรายเหล่านี้ อยู่ที่ประชาชนด้วย ต้องเตรียมพร้อม และต้องรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงอะไร อย่างกลุ่มแม่วัยรุ่นก็มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่การเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ และเสี่ยงมีภาวะซีดอีก คลอดยาก เชิงกรานแคบ เป็นต้น ส่วนกลุ่มอายุเกิน 35 ปีหากมีโรคประจำตัว อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน เมื่อตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเกิดเบาหวาน ความดันแทรกขึ้นมาได้

พญ.ชัญวลีกล่าวอีกว่า จึงแนะนำว่า การตั้งครรภ์และคลอดให้ปลอดภัย คือต้องมีความพร้อม โดยประชาชนที่จะท้องต้องไปตรวจก่อน โดยต้องไปตรวจก่อนท้องด้วย ว่าเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่ แม่มีเบาหวาน ความดันสูงหรือไม่ สรุปคือ ต้องเตรียมตัวก่อนฝากครรภ์ และต้องฝากครรภ์เร็วก่อน 3 เดือน อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว การคลอดธรรมชาติจะปลอดภัยร้อยละ 80 หมายความว่าถ้าไม่ฝากท้อง และตั้งใจว่าจะคลอดเองตามธรรมชาติ ทั้งนั่งคลอด ยืนคลอด หรือทำท่าคลานคลอดก็ทำได้ แต่อย่าลืมว่ามีร้อยละ 20 ที่อาจไม่ปลอดภัย เพราะเด็กอาจคลอดออกมาด้วยท่าขวาง หรือออกมาติดหัว ประกอบกับตอนคลอดอาจมีภาวะรกเกาะต่ำ คลอดไม่ได้ ตกเลือดรุนแรง หรือคุณอาจมีบาดแผลมดลูกอยู่แล้ว และเมื่อคลอดอาจมดลูกแตก เสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้ เห็นได้จากที่ผ่านมาก็มีข่าวลักษณะนี้ อย่างนักศึกษาปิดบังว่าตัวเองมีลูก ก็แอบไปคลอดเองในห้องน้ำ แต่เด็กออกมาในท่าขวาง จึงทำให้เสียชีวิตทั้งแม่และลูก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image