หัวหน้าอุทยานฯทับลาน เสนออุทยานฯกุยบุรีทำโครงการวิจัยหมีควาย ‘ชักกุย’

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า จากกรณีการย้ายหมีควายเพศผู้ “ชาลี ชักกุย” อายุ 2 ปี 2 เดือนน้ำหนักกว่า 150 กิโลกรัม ซึ่งมีความผิดปกติด้านสมอง และป่วยเป็นโรคลมชัก จะต้องให้กินยากันชักเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง พร้อมอาหาร จากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์เพื่อนำไปทำโครงการวิจัยพฤติกรรมของหมีควายสำหรับการจัดการหมีของกลาง เพื่อเตรียมการปล่อยหมีคืนสู่ธรรมชาตินั้น ที่ผ่านมาได้ทำเรื่องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแล้ว แต่เพื่อความเหมาะสมจะหารือกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีว่ามีความสนใจจะทำโครงการดังกล่าวหรือไม่ โดยตนมีความพร้อมจัดงบประมาณจากภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการทำวิจัยดังกล่าว โดยขอความร่วมมือพร้อมด้านบุคลากรในการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

“เดิมหลายฝ่ายต้องการย้ายหมี ‘ชักกุย’ ไปวิจัยที่ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า อ.ละมุง จ.ชลบุรี เพื่อให้เป็นต้นแบบการศึกษาพฤติกรรมของหมีควาย แต่พบว่าในศูนย์ดังกล่าวมีหมีจำนวนมากที่มีลักษณะดุร้ายและส่งเสียงดัง อาจจะไม่เหมาะกับ ‘ชักกุย’ ซึ่งเป็นหมีความอารมณ์ดี ไม่มีนิสัยดุร้าย ชอบแช่อยู่ในอ่างน้ำ มีความคุ้นเคยกับมนุษย์มีแฟนคลับจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศเบื้องต้นคาดว่าอาการป่วยลมชัก และอาการทางสมองคงรักษาไม่หายอย่างแน่นอน แต่ส่วนตัวต้องการให้ชักกุยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้การดูแลตามหลักวิชาการ และไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานกุยบุรีหรือผู้เกี่ยวข้องมองว่าเป็นภาระที่ต้องเลี้ยงดู หลังจากผมเจอ ‘ชักกุย’ อายุ 2 เดือนถูกสุนัขรุมกัด ตั้งแต่ถูกแม่หมีทิ้งไว้ในไร่สับปะรดเมื่อ 2 ปีก่อน โดยพบว่ามีอาการชัก ตัวเกร็ง ตลอดเวลา ส่วนที่มาของชื่อ ‘ชาลี ชักกุย’ มีที่มาจากชื่อนักฟุตบอลทีมชาติ ชาลี ชัปปุย” นายประวัติศาสตร์ กล่าว

นายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยหากมีการนำ ”ชักกุย” ไปทำการวิจัยในพื้นที่อื่น เพราะอาจจะมีผลกระทบกับภาวะสุขภาพเนื่องจากเป็นหมีป่วย และ ที่สำคัญที่สุดคือความรักความผูกพันของเจ้าหน้าที่อุทยานฯผู้ดูแลหมีก็ความสำคัญมาก เพราะปัจจุบันผู้เลี้ยงสามารถกอดหมีได้อย่างใกล้ชิดต้องเจอกันทุกวัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาดูโขลงช้างป่า ฝูงกระทิงก็ให้ความสนใจ และตนพร้อมจะประสานขอสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนหากมีแผนงานโครงการศึกษาวิจัย “ชาลี ชักกุย” ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image