กรมแพทย์แผนไทยฯ ชู ‘ยาหอม’ มากสรรพคุณ แนะใช้ช่วงขับรถทางไกล

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การขับขี่ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น สิ่งที่อยากแนะนำประชาชนพกติดตัวคือ ยาหอม ซึ่งมีหลายชนิด และมีสรรพคุณที่ไม่ใช่แค่ช่วยแก้ลมวิงเวียนเท่านั้น เช่น ยาหอมเทพจิตร เหมาะมากกับวัยรุ่น หรือวัยทำงาน เนื่องจากกลิ่น รสไม่แรง แต่มีสรรพคุณมากกว่าแก้วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย คือ หากรู้สึกง่วง สามารถรับประทานให้กระปรี้กระเปร่าได้ เนื่องจากมีส่วนผสม อาทิ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนยาค ดอกสารภี ดอกเกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ผิวมะกรูด ผิวมะนาว ฯลฯ ในการรับประทานนั้น หากเป็นเม็ดควรรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง และหากละลายน้ำ ใช้เพียงครั้งละ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 60 ซีซี.

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยาหอมทิพโอสถ มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ช่วยฟื้นไข้หลังเป็นไข้หวัดได้ดี โดยสูตรประกอบด้วย ดอกมะลิ ดอกบัวจงกลนี หัวแห้วไทย กระจับ แก่นฝาง แก่นจันทน์แดง กฤษณา เปลือกอบเชย เป็นต้น ยาหอมนวโกฐ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นเหียน อาเจียน จุกเสียด อาหารไม่ย่อย แก้ลมต้นไข้และลมปลายไข้ สูตรประกอบด้วย โฏฐสอ โกศเขมา โกศหัวบัว เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เหง้าขิงแหง ลูกกระวาน ดอกกานพลู ลูกราชดัด เป็นต้น ยาหอมอินทจักร์ แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด สูตรประกอบด้วย เหง้าขิง ดอกดีปลี รากชะพลู โกศสอ กานพลู ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกคำไทย ดีวัว พิมเสน เป็นต้น และยาหอมแก้ลมวิงเวียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง สูตรประกอบด้วย รากชะเอมเทศ แก่นจันทน์เทศ ดอกกานพลู โกศเชีย รากแฝกหอม เกสรบัวหลวง พิเสน ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี เถามวกแดง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image