ตั้งสติก่อนซื้อทัวร์ ช้าๆ แต่ชัวร์ ได้เที่ยวสมใจ

ระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางยอดนิยมอย่างญี่ปุ่น

นอกจากผู้ประกอบการทัวร์หันมาแข่งขันเรื่องราคาโปรแกรมทัวร์กันอย่างดุเดือด สายการบินเองก็หันมาอัดโปรโมชั่นหั่นราคาตั๋วเครื่องบิน สร้างแรงกระตุ้นให้คนอยากเดินทางมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแก๊งมิจฉาชีพไม่น้อยที่ใช้จังหวะความต้องการท่องเที่ยวของคนไทย และรู้จุดอ่อนว่ามีนิสัยชอบมองเรื่องราคาเป็นที่ตั้ง โดยหาลูกเล่นต่างๆ หลอกเงินนักท่องเที่ยว จนปรากฏเป็นรายงานข่าวใหญ่โตมาแล้วหลายๆ ครั้ง ทั้งทัวร์ไทยถูกหลอกถูกทิ้งที่เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ภายในประเทศ

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นของโรงแรมกระบี่ภูพระนาง รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่หลอกลวงให้คนซื้อห้องพักและซื้อทัวร์ จนมีการแจ้งความร้องทุกข์กันไปถึงขั้นปิดโรงแรมหนี สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท กระทบต่อผู้บริโภคกว่า 7 พันคน

แต่คนไทยยังไม่เข็ด ถ้าไม่เกิดขึ้นกับตัว ก็ยังรู้สึกว่าไม่เป็นอะไร มั่นใจว่าสิ่งที่ได้ตัดสินใจไม่น่าจะผิดพลาดแน่นอน

Advertisement

อย่างกรณีทัวร์โชกุนตุ๋นนักท่องเที่ยว โดย น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน กรรมการบริหารบริษัท เวลท์เอเวอร์ (WealthEver) ที่วาดฝันให้กับคนไทยที่อยากไปญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในลักษณะการทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ จนทำลูกค้าตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิกว่า 1-1.5 พันคน โดยกลุ่มผู้เสียหายเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าทัวร์คนละ 1-1.5 หมื่นบาท

ในจำนวนผู้เสียหายที่ตกค้าง มีทั้งกลุ่มที่เป็นสมาชิกขาย และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ได้เสียค่าใช้จ่าย 9,730 บาท ผ่านการแนะนำของคนรู้จัก แต่ถูกบอกว่าไม่ใช่ค่าทัวร์ เป็นลักษณะซื้อสินค้า โดยการได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นบัตรกำนัลเสริม ขณะที่บางส่วนไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดการเดินทาง

และบางรายยังไม่มีแม้แต่หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ในวันเดินทาง

Advertisement

จากข้อมูลของเว็บไซต์จองที่พักออนไลน์ Hotels.com พบว่า ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศยอดนิยมสูงสุดสำหรับคนไทย โดยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมามี 3 เมืองใหญ่ที่ติด 10 อันดับแรก คือ โตเกียว โอซากา และซัปโปโร และพบว่านักเดินทางท่องเที่ยวชาวไทยยังจ่ายค่าที่พักสูงขึ้น 10% เมื่อเดินทางไปญี่ปุ่น

โดยเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยและราคาโรงแรมที่พักต่อห้องต่อคืนสูงสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย กรุงโตเกียว มากที่สุดเป็นอันดับ 1 เพิ่มขึ้น 14% หรือราว 5,300 บาท

ตามด้วยฮ่องกงราว 4,904 บาท (ติดลบ 3%), สิงคโปร์ราว 4,494 บาท (ลดลง 1%) โอซากา เพิ่มขึ้น 19% หรือราว 4,772 บาท, โซล (เกาหลี) ราว 3,393 บาท เพิ่มขึ้น 7% กรุงกัวลาลัมเปอร์ ราว 2,003 บาท เพิ่มขึ้น 1%, โฮจิมินห์ซิตี้ราว 2,496 บาท เพิ่มขึ้น 8%, ซัปโปโร ราว 4,075 บาท เพิ่มขึ้น 8%, ไทเป (ไต้หวัน) ราว 3,714 บาท เพิ่มขึ้น 13% และลอนดอน ราว 7,899 บาท ลดลง 10%

จะเห็นได้ว่าเฉพาะราคาห้องพักเมืองยอดนิยมในญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยก็สูงถึง 4-5 พันบาทแล้ว แต่โปรแกรมของทัวร์โชกุน กลับมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 1 หมื่นบาท กลับพักในโรงแรมหรู

และยิ่งเป็นราคาที่รวมถึงตั๋วเครื่องบินอย่างการบินไทยตามที่แอบอ้าง ซึ่งเป็นสายการบินระดับพรีเมียม จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ราคาทัวร์ดังกล่าวจะสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้

ต่อเรื่องนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เน้นย้ำถึงประชาชนที่ต้องการซื้อโปรแกรมทัวร์ไปต่างประเทศว่า อย่าหลงเชื่อเรื่องซื้อทัวร์ราคาถูกง่ายๆ ยิ่งราคาถูกเท่าไร ยิ่งต้องน่าสงสัย แต่ยอมรับว่ากลยุทธ์ต่างๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ถ้าเราไม่มีความรู้เหนือกว่า หรือว่าตามไม่ทัน เหล่าบรรดามิจฉาชีพก็พร้อมจะเข้าหลอกลวงประชาชนอยู่เสมอ อย่างคดีโชกุนก็เป็นเรื่องทำตลาดออนไลน์ ซึ่งต่อจากนี้ไป เราต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัล รวมถึงภาคเอกชนให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อไล่ตามทันกับกลยุทธ์หลอกลวงที่พลิกแพลงตลอดเวลา ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น แต่ยังขอย้ำว่า มีหลายคดีที่เป็นข่าวทัวร์หลอกลวงนักท่องเที่ยวโด่งดังในช่วงที่ผ่านมา เตือนสติเราแล้ว ก็ขอให้ประชาชนตระหนักให้มากๆ ก่อนซื้อ

ด้าน น.ส.วรรณศิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ขอให้ประชาชนคิดก่อนซื้อทัวร์ ยิ่งปัจจุบันช่องทางค้นหาข้อมูลออนไลน์มีอยู่มาก จะเป็นส่วนสำคัญให้ประชาชนค้นคว้าหาข้อมูล ความคิดเห็นที่มีต่อบริษัททัวร์ที่จะซื้อโปรแกรมทัวร์ด้วย แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าบริษัทที่จะซื้อบริการนั้น น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ก็ขอแนะนำให้โทรไปที่คอลเซ็นเตอร์ 0-2401-1111 บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมจะพร้อมช่วยตรวจสอบ เนื่องจากมีบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนกับกรมไว้กว่า 1 หมื่นบริษัท

“จริงๆ แล้ว เรื่องการซื้อบริการเป็นสิทธิของผู้บริโภค เราควรจะตรวจสอบให้ดีๆ ก่อน เพราะถ้าเสียหายขึ้นมา ก็ตัวผู้ซื้อเองที่ได้รับความเดือดร้อน ที่สำคัญขอเตือนว่าการขอดูเลขใบอนุญาตการจดทะเบียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยขอเลขดังกล่าว แล้วโทรมาถามที่คอลเซ็นเตอร์ให้ตรวจสอบก่อนจะซื้อ เพราะอย่างบริษัททัวร์บางแห่งที่โฆษณาผ่านทีวี หนังสือพิมพ์ ก็ต้องเตือนไว้ว่า ไม่ได้แสดงเลขใบอนุญาตจดทะเบียนแต่อย่างใด ตรงนี้ขอให้ละเอียด ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวเห็นชอบให้ปรับขึ้นทุนประกันสำหรับการจดทะเบียนของบริษัททัวร์จาก 2 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท

“ขั้นตอนต่อไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยเชื่อว่าการเพิ่มทุนประกันจะไม่กระทบต่อบริษัทรายเล็ก เนื่องจากราคา 2 แสนบาทใช้มาตั้งแต่เมื่อปี 2535 และจริงๆ แล้วเงิน 5 แสนบาท เมื่อผู้ประกอบการหยุดดำเนินการก็สามารถนำเงินนี้คืนกลับไปได้เต็มจำนวน หรือระหว่างเปิดบริการ ก็จะมีดอกเบี้ยให้ ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความอุ่นใจ ในกรณีที่ผู้บริโภคถูกหลอก ก็จะใช้เงินนี้เยียวยา”

ขณะที่ นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าจากรายงานข่าวดังกล่าว จะทำให้ประชาชนตื่นตัวก่อนจะซื้อทัวร์ไปเที่ยว โดยเฉพาะทัวร์ราคาถูกเกินความเป็นจริง ซึ่งทางสมาชิกก็รวมตัวกัน ช่วยกันสอดส่องดูแลบริษัททัวร์ หรือการทำธุรกิจในลักษณะทัวร์ที่ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับประชาชน และส่งข้อมูลให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องหลอกลวงประชาชนซ้ำซาก

“ประชาชนเองต้องพิจารณาให้ดี ไตร่ตรองให้มากๆ กรมการท่องเที่ยวก็มีช่องทางให้เราสามารถตรวจสอบ ยอมเสียเวลานิดหน่อยดีกว่าจะมีปัญหาตามมา เพราะความเป็นจริง เมื่อราคาทัวร์ต่ำมากๆ แต่พาไปเที่ยวต่างประเทศ มันก็ต้องเกิดข้อสงสัยอยู่แล้ว ทุกอย่างล้วนมีต้นทุนอยู่แล้ว จะมาขายถูกๆ จนผิดปกติก็เป็นไปไม่ได้ ยิ่งพาไปพักโรงแรมหรูๆ เลิกคิดไปได้เลย อย่ามองแค่เรื่องราคาเป็นที่ตั้งอย่างเดียว”

ของถูกแต่ต้องการของดีมากๆ ไม่มีในโลก ถ้าไม่ตระหนักก่อนซื้อ ปัญหาถูกหลอกลวงต้มตุ๋น ก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอาจเป็นตัวเราเองที่โดน หากยังไม่มีสติก่อนตัดสินใจซื้อ เชื่อแค่กระดาษแสดงหลักฐานเพียงแผ่นสองแผ่นกับความเพ้อฝันจะได้ท่องเที่ยวตามใบปลิวโฆษณาสุดเว่อร์วังอลังการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image