ร่าย 3 แนวทางแก้ที่ดิน รอส.ตามแผนเขาค้อโมเดล ปูดนายทุนเตรียมเช่ารอไว้แล้ว

วันที่ 18 เมษายน 2560 เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นายฐิติศักดิ์ กันเขตต์ นายอำเภอเขาค้อ เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่อำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีนายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้,  นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร, นายบุญลาภ สุกใส ผอ.สำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 พิษณุโลก พร้อม พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ตัวแทน ศปป.4 กอ.รมน. พร้อมตัวแทนทหารจากกองพันทหารม้าที่ 28 รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

 

นายฐิติศักดิ์ได้กล่าวสรุปถึงที่มาที่ไปของที่ดินราษฎอาสาสมัคร(รอส.) ขาค้อ พร้อมปัญหาที่ทำให้ที่ดินที่ทางกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งขอใช้จากกรมป่าไม้เพื่อให้จัดสรรให้แก่รอส. ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน 9 ข้อ ห้ามขายเปลี่ยนมือและทำการเกษตรและให้ตกเป็นมรดกตกทอด แต่เนื่องจากเกิดปัญหาอาชีพดั้งเดิมไม่พอเลี้ยงครอบครัวจึงขายที่ดินจนถูกเปลี่ยนมือ จึงเสนอแนวทางโดยให้พลิกฟื้นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กตามแนวทางพระราชดำริ โดยจะดูแลใน 6 ด้านได้แก่ คน พื้นที่ ป่า น้ำ สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว โดยคนจะใช้ศาสตร์พระราชาในการแก้ไขปัญหาเรื่องป่ากับคนอยู่ร่วมกันได้ เศรษฐกิจพอเพียง ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง และใช้โครงการกรีนมาร์เก็ตผักปลอดภัยซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดมาช่วยขับเคลื่อน เพื่อช่วยให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้สูงขึ้นเพื่อจะไม่ต้องขายที่ดินให้กลุ่มทุน

 

Advertisement

นายอำเภอเขาค้อยังกล่าวอีกด้วย สำหรับในด้านพื้นที่จากมีการสอบถามราษฎรกลุ่มต่างๆ จะมีการกำหนดโซนนิ่ง 6-7 หมื่นไร่แล้วแต่สภาพที่ใช้ในปัจจุบัน เพื่อกำหนดขอบเขตไม่ให้ปัญหากระจายออกไปจากนั้นขีดวงจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับแนวทางปัจจุบัน ส่วนการท่องเที่ยวใช้กฎหมายอยู่ 2 ฉบับๆแรก พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ.2507 และพ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 ในการบริหารและควบคุมพื้นที่

 

“ช่วงที่ยังไม่ได้จัดโซนนิ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีไม่ถึง10 แห่งซึ่งไม่สามารถขออนุญาตก่อตั้งโรงแรมได้ เพราะติดปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิในพื้นที่ แต่มีกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.โรงแรมกำหนดไว้มีอาคาร 1หลังไม่เกิน 4 หลังหรือพักได้ไม่เกิน 20 คน สามารถมาจดแจ้งที่อำเภอได้ และให้รายงานทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ถือว่าถูกต้องตามพ.ร.บ.โรงแรม”นายฐิติศักดิ์กล่าว

Advertisement

 

ส่วนร่างแผนแม่บทเขาค้อโมเดลนั้น นายฐิติศักดิ์ กล่าวว่า มีการกำหนดระยะเวลาไว้ 5 ปีตั้งแต่ 2560-2564 โดยใช้แนวทางตามโครงการหลวง โครงการปิดทองหลังพระ ฯลฯ หลักการคือคนอยู่กับป่าได้ รักษาป่ารักษาน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จะได้ไม่ขายที่ดินให้กับกลุ่มทุนต่างๆ และพยายามจะขับเคลื่อนอำเภอเขาค้อทั้ง 7 ตำบลให้ใช้ศาสตร์พระราชาแก้ไขปัญหา และยังกล่าวถึงข้อเหมือนและข้อแตกต่างระหว่างเขาค้อ-ภูทับเบิกด้วยคือความเหมือนกับภูทับเบิก โดยทางพม.ขอใช้ส่วนเขาค้อกองทัพภาค 3 ขอใช้    ส่วนด้านการท่องเที่ยวทั้งสองแห่งสร้างรายได้ให้กับจังหวัด แต่ต้องจัดระเบียบทั้งสองที่และยังไงก็ต้องกำหนดพื้นที่ผ่อนปรน เพื่อการกำหนดโซนนิ่งจะชลอการบังคับใช้กฎหมายให้คนอยู่กับป่า ได้ส่วนราชการได้ประโยชน์ รีสอร์ตส่วนใหญ่ต้องการอยู่อย่างถูกกฎหมายและปฎิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ และยังสามารถบังคับใช้กฎหมายธรรมดาได้แก่พ.ร.บ.ป่าสงวนและพ.ร.บ.โรงแรมที่มีอยู่แก้ไขปัญหาได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44

 

“ส่วนการบริหารพื้นที่มี 3 หน่วยงานได้แก่ กองทัพภาค 3 เป็นผู้ดำเนินการเองหากใช้มาตรการสูงสุด โดยรอส.ที่ผิดเงื่อนไขมีราว 80% ที่ไม่ถูกต้องทำผิดเงื่อนไข 9 ข้อ ยกเลิกการเป็นรอส.ยึดพื้นที่คืนเป็นแนสทาวทร่ทำได้เลย ส่วนแนวทางที่ 2 กำหนดพื้นที่ผ่อนปรนจัดโซนนิ่งเพื่อเดินตามแผนแม่บท 5 ปีในการจัดระเบียบแต่เงื่อนไขต้องห้ามมีการสร้างรีสอร์ตเพิ่มเติมอย่างเด็ดขาด และอนาคตกองทัพภาคที่ 3 จะต้องมีกำลังมาดูแลพื้นที่ไม่ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในพื้นที่โครงการตามแนวพระราชดำริ” นายฐิติศักดิ์ กล่าวอีก

นายฐิติศักดิ์กล่าวอีกว่า แนวทางที่ 2 ทางกรมป่าไม้เจ้าของพื้นที่ต้องรับคืนพื้นที่ก่อน แล้วต้องมาดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้เอง ผ่านคณะกรรมการป่าสงวนจังหวัด ก็จะมาจัดระเบียบได้ไม่ว่าจะให้เช่าหรือขอใช้หรือจะดำเนินคดีก็ไม่เป็นปัญหา สำหรับแนวทางที่ 3 การยกเลิกป่าไปเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งอยากใช้พื้นมีราว 6 หมื่นไร่ อาจต้องเสนอใช้มาตรา 44 เพื่อขอยกเลิกป่าสงวนและให้กระทรวงการคลังมาบริหารให้เช่าหรือดำเนินการ โดยทั้ง 3 แนวทางทางอำเภอเสนออยู่ในแผนแม่บท ก็แล้วแต่คณะทำงานจังหวัด หรือกองทัพภาค 3 จะพิจารณาจะใช้แนวทางไหน

 

ด้านนายอรรถพลกล่าวว่า ได้รับมอบจากอธิบดีให้รับทราบข้อมูลและแก้ปัญหาพร้อมรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นที่เข้าใจดีตรงกันว่าเขาค้อกับภูทับเบิกแตกต่างกัน และแนวทางที่ตรงกับอำเภอก็คือทำยังไงให้คนอยู่กับป่าได้โดยไม่เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศน์และลดการใช้สารเคมี และน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้แก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าปัญหาจะยุติได้ทันที เพียงแต่ข้อมูลที่มีอยู่ทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ป่าไม้ ปกครอง กองทัพภาค 3 อยากให้ข้อมูลที่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นที่พื้นที่ 1.2 แสนไร่ซึ่งเดิมเป็นป่าไม้ถาวร และมาเป็นป่าสงวน และ 8 แปลงที่ทหารขอใช้ทั้งที่หมดอายุและไม่มรกำหนดหมดอายุ

 

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า  หากไม่มีฐานข้อมูลที่ตรงกันก็ไม่สามารถกำหนดโซนนิ่งได้ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงกลุ่ม และไม่ใช่มีเพียงแค่ 2-3 กลุ่มใหญ่แต่ยังมีกลุ่มย่อยลงไปอีกซึ่งมีหลายเงื่อนไข และจะนำข้อเสนอที่ทางอำเภอได้ร่างไว้ในแผนแม่บทซึ่งสอดคล้องกับแผนของทางกองทัพภาค 3 เสนอผู้บังคับบัญชาระดับกระทรวงฯ แต่สำคัญที่สุดอยากให้นำข้อมูลพื้นที่ 1.2 แสนและที่ใช้ที่ไปมีเท่าไหร่และมีผู้ครอบครองกี่รายไม่ใช่เฉพาะแค่โรงแรมรีสอร์ตเท่านั้น แต่ต้องเป็นภาพรวมทั้งหมดและเป็นที่น่ายินดีที่เริ่มมีการสำรวจแล้ว ซึ่งจะทำให้เห็นเป้าหมายชัดและอยู่ในเงื่อนไขอะไรบ้าง

 

“ไม่ใช่แค่ถูกหรือผิดเงื่อนไขแต่ยังมีหุ้นเป็นนอมินีหรือตั้งใจมาซื้อขายแล้วปั่นราคาเพื่อนำไปขายต่อ ฉะนั้นวันนี้เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้มาพูดคุยและให้อยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อจะนำฐานข้อมูลและแนวทางแก้ไขพร้อมนำเสนอที่ประชุมระดับสูง โดยเฉพาะทางอธิบดีกรมป่าไม้จะเดินทางมาร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 28 เมษายนนี้”นายอรรถพลกล่าวและย้ำว่า ทางอธิบดีฯย้ำมาชัดเจนว่า ในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ที่กำหนดแผนปฎิบัติการโรงแรมรีสอร์ตที่พักตากอากาศที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องและเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ไม่เกินวันที่ 28 เมษายนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนเดิมที่วางไว้พร้อมประสานขอสนับสนุนกำลังในพื้นที่เข้าร่วมตรวจสอบด้วย

อย่างไรก็ตามระหว่างการประชุม พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ตัวแทนจากศปป.4 กอ.รมน.ได้หยิบยกประเด็นเรื่องภูทับเบิกกับเขาค้อซึ่งนายทุนรู้การเคลื่อนไหวดีและรู้แม้กระทั่งเรื่องการทำแผนแม่บท จนพูดกันต่อๆว่าต่อไปจะเริ่มไปเช่าที่ดินแล้ว จึงไม่อยากให้การแก้ไขภูทับเบิกแต่มาปูดที่เขาค้ออีก ขณะนี้มีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ของธนารักษ์บริเวณสองข้างทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก ปรากฎว่ามีผู้เช่าถูกต้องแค่เพียง 2 รายเท่านั้นแต่ก็ใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์จากที่ขอเช่าอีกด้วย

 

“นอกจากนี้ในรายสำคัญที่มาเช่าเป็นรายที่มาจากภูทับเบิกและเมื่อไปตรวจสอบหลักฐานการเช่าก็พบว่า ยังไม่ได้รับอนุญาตแต่มีการก่อสร้างและเปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีก 22 รายนี้ก็เป็นแบบเดียวกันยังไม่ได้รับอนุมัติแต่ทำกันไปเรียบร้อยเช่นเดียวกัน ไม่อยากให้การแก้ปัญหาเป็นลักษณะงูกินหางที่แก้กันไม่จบและหากการเช่าผิดวัตถุประสงค์ผิดเงื่อนไขก็ต้องยกเลิกเช่นเดียวกัน”พ.อ.พงษ์เพชร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image