จับตากระทรวงหมอ คุมเข้มอาหารปลอดภัย

ทุกปีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องออกมาเตือนประชาชนให้ระวังการรับประทานอาหารที่อาจก่อโรคอาหารเป็นพิษ ยิ่งในช่วงหน้าร้อนอุบัติการณ์ผู้ป่วยยิ่งสูงขึ้น เห็นได้จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) ได้รายงานการเฝ้าระวังโรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2559 พบผู้ป่วย 14,170 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งมักจะเป็นเด็กนักเรียน ส่วนใหญ่จะมาจากการบริโภคอาหารไม่สะอาด หรือแม้แต่น้ำแข็งก็มีการปนเปื้อนได้เช่นกัน

เกิดคำถามว่า จะมีมาตรการอะไรช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากการเตือนให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร…

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า การดูแลเรื่องอาหารปลอดภัย ถือเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งในส่วนของ สธ. มีกฎหมาย 2 ฉบับในการกำกับดูแล คือ 1. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ดูแล และเฝ้าระวังอาหารไม่ให้มีการปนเปื้อนต่างๆ รวมทั้งวางมาตรฐานการผลิตให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรฐานการผลิตที่ดี หรือจีเอ็มพี (GMP) รวมไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยจะมีมาตรฐานการผลิตขั้นพื้นฐาน หรือไพรมารีจีเอ็มพี (Primary GMP) และ 2. พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งจะมีข้อกำหนดในการประกอบอาหารให้กับร้านค้ารายย่อย ไปจนถึงผู้ผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่

ที่เป็นปัญหา คือ ในกลุ่มร้านอาหารที่ขายในที่หรือทางสาธารณะ รวมไปถึงตลาดนัด ตลาดสดต่างๆ จะมีมาตรการดูแลอย่างไร เพราะแหล่งจำหน่ายลักษณะนี้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ. โดยกรมอนามัย ได้อาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ในการดูแล แต่ส่วนใหญ่จะขอความร่วมมือเป็นหลัก โดยเน้นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นออกข้อกำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหารปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นสุขลักษณะของบริเวณที่ทำ การประกอบหรือปรุงอาหาร สุขลักษณะของอาหาร ของภาชนะ เครื่องใช้อื่นๆ รวมไปถึงการใช้น้ำ เป็นต้น

Advertisement

โดยจะมีการจัดประกวดว่า ท้องถิ่นไหนทำได้ดีจะได้รับรางวัล แต่เพื่อให้การดำเนินงานเข้มข้นขึ้น ขณะนี้มีคณะอนุกรรมการสาธารณสุขระดับจังหวัด ภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ โดยคณะกรรมการสาธารณสุขส่วนกลางมีมติให้ตั้งอนุกรรมการสาธารณสุขระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นเลขาฯ โดยอนุกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ท้องถิ่น รับมอบอำนาจใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ได้อย่างเต็มที่ และไปออกข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า แหล่งจำหน่ายอาหารต่างๆ ดำเนินการให้ถูกต้อง และจะมีผู้ตรวจราชการ สธ. จากส่วนกลางลงพื้นที่ตรวจทุกๆ ปี

“จากการทำงาน 1 ปี พบว่าหลายจังหวัดทำดี ส่วนจังหวัดที่ยังติดขัด เราใช้กลไกของผู้ตรวจราชการฯ ไปกำชับให้ปฏิบัติตาม เบื้องต้นเราก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องไปตรวจจับร้านค้า แต่เราเน้นคุ้มครองประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการให้ทำตามกฎหมาย แต่หากผ่านไปสักระยะ แล้วเจ้าพนักงานตามกฎหมายปล่อยปละละเลย รวมไปถึงกรณีรับทราบปัญหาแต่ไม่ปฏิบัติก็จะเข้าข่ายละเว้นตามมาตรา 157 “นพ.สุวรรณชัยกล่าว และอธิบายว่า เมื่อมีมาตรการเหล่านี้แล้วก็ต้องมาดูว่า อาหารปลอดภัยขึ้นจริงหรือไม่ โดยใช้ช่องทางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการตรวจสอบคุณภาพอาหาร โดยในระดับจังหวัดจะมีรถโมบาย มีชุดทดสอบการปนเปื้อนต่างๆ ซึ่ง สธ. ยังส่งเสริมผู้ประกอบการในการใช้ชุดทดสอบด้วย หากมีข้อสงสัยก็ต้องส่งห้องปฏิบัติการ โดยให้จังหวัดและส่วนกลางเก็บสุ่มตัวอย่างอาหารตลอด ไม่เพียงแต่อาหารในประเทศ แต่อาหารนำเข้าด้วย ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค (คร.) ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เนื่องจากจะมีหน่วยงานอย่างสำนักระบาดวิทยา ทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดโรค

ทั้งหมดก็เพื่อควบคุมอาหารให้ปลอดภัยนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image