‘ปิยะสกล’ เดินหน้าแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน ระยะยาว จ่อปรับระบบจัดซื้อยาใหม่

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้ล่ารายชื่อผ่านการรณรงค์ของ www.change.org เรื่อง ขอให้รัฐบาลยกเลิก การออกระเบียบในการบันทึกเวชระเบียน (ประวัติการรักษาผู้ป่วย) จัดซื้อยา และโครงการย่อย ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นการรักษาแบบเหมาโหล และกระทบกับปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ว่า ไม่ขอออกความเห็นเรื่องนี้ ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนไม่ได้เกี่ยวกับ สปสช. คิดว่าเป็นเรื่องของงบประมาณที่ลงมาไม่พอเพียงแค่นั้นเอง ส่วนเงินงบประมาณกลางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกว่า 5 พันล้านบาทนั้น ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันเต็มที่ คิดว่าจะต้องกระจายให้เร็วที่สุด ถ้าทำได้ภายในเดือนนี้ก็จะทำภายในเดือนเมษายน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนเรื่องการยกเลิกบทบาทของ สปสช.ที่ทับซ้อนกับกระทรวงนั้นพยายามปรับเปลี่ยนอยู่แล้ว ยกตัวอย่างการจัดซื้อยานั้น ภายในปีงบประมาณหน้าจะปรับปรุง ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบที่ควรจะเป็นไปโดยมีคณะกรรมการต่อรองราคายาสำหรับปีงบประมาณใหม่จะมีคณะกรรมการต่อรองราคายาระดับชาติ ซึ่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยา ที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ทำหน้าที่ในการต่อรอง โดยผู้ที่มีหน้าที่ซื้อก็จะทำหน้าที่ซื้อ ส่วน สปสช.ที่เคยทำหน้าที่ซื้ออยู่เพราะมีระบบบริหารจัดการที่ทำให้ซื้อได้ราคาถูกนั้นก็ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ซื้อทำหน้าที่ซื้อ และต้องซื้อในราคาที่ไม่แพงกว่าเดิม

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือระยะยาวจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งก็คือ 1. ต้องปรับระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างเรื่องการจัดสรรเงิน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ โดยเฉพาะงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ทางสธ.กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ต้องหารือกันว่าจะจัดสรรงบอย่างไรให้รายได้ที่เข้ามารพ.ใกล้เคียงกับรายจ่าย ต้องปรับให้สอดคล้องกับความจริงให้มากที่สุด และ2.การเปิดโอกาสให้รพ.หารายได้เพิ่มเติม ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดให้บริการนอกเวลาแล้ว โดย สธ.อาจเสนอให้มีการปรับระเบียบพัสดุ ซึ่งเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดซื้อยาหรือวัสดุในหลายระดับ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายเองจ่ายเพิ่มได้ คล้ายๆกรณีอัพจากห้องผู้ป่วยในธรรมดาเป็นห้องผู้ป่วยในห้องพิเศษ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ระเบียบพัสดุเรื่องจัดซื้อยาจะเอื้อบริษัทยามากเกินไปหรือไม่ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองคน แต่กรณีนี้เป็นข้อเสนอที่มองว่าเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่มีความสามารถในการจ่ายและต้องการสิ่งที่เค้าคิดว่าดีกว่าสำหรับตัวเค้าเองซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลของรัฐ เงินที่เข้ามาก็ต้องเข้าเงินบำรุงอยู่แล้ว ซึ่งมีระเบียบเงินบำรุงอยู่ สามารถตรวจสอบได้ ผลดี คือ ประชาชนมีทางเลือก โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลก็สามารถเอาเงินมาพัฒนาการดูแลรักษาประชาชนให้ดียิ่งขึ้นได้

Advertisement

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สำหรับการจัดแก้ระเบียบพัสดุตามข้อเสนอนั้น จริงๆในเรื่องการจัดซื้อยา จะมีคณะกรรมการจัดซื้อยาของหน่วยบริการแต่ละแห่ง เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ว่า ต้องใช้ยาในกลุ่มยาบัญชียาหลักอย่างไรบ้าง การจะไปซื้อยานอกบัญชียาหลัก จะเป็นการสิ้นเปลือง และเป็นการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image