สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ เผย พบเด็กไทยพิการแต่กำเนิด 2.38%

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 มีนาคม ตรงกับวันเด็กพิการโลก ทั้งนี้ ความพิการในเด็กแรกเกิดนั้น ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไข ล่าสุด สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้มีการพัฒนาขยายผลต่อยอดระบบลงทะเบียนการเกิด เน้นค้นหาเด็กพิการแต่กำเนิด เพื่อทำฐานข้อมูลในภาพรวมทั้งประเทศ นำไปสู่แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต

ด้าน ศ.คลินิก นพ.สุทธิพงษ์ ปังคานนท์ หัวหน้าหน่วยพันธุศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกสำรวจความพิการแต่กำเนิดในทารกทั่วโลก พบว่ามีทารกพิการแต่กำเนิดร้อยละ 3-5 หรือปีละประมาณ 8 ล้านคน จากทารกที่คลอดประมาณ 130 ล้านคนต่อปี โดยความพิการแต่กำเนิด แบ่งได้ 2 ส่วน คือ 1.ความพิการทางด้านโครงสร้างของร่างกาย เช่น คลอดออกมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาขาด และ 2.ความพิการของการทำงานในหน้าที่และภาวะร่างกาย เช่น มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง หรือกลุ่มโรคโลหิตจาง เป็นต้น

“ในประเทศไทยได้มีการเปิดลงทะเบียนเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิดเพื่อดูว่าในไทยจะพบมากน้อยเพียงใด พบว่าตัวเลขล่าสุดในปี 2557 มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด 180,393 คน คิดเป็นร้อยละ 23.23 ของทารกแรกเกิด แต่เป็นเพียงการเก็บตัวอย่างในพื้นที่ 41 จังหวัดเท่านั้น หากคิดเป็นภาพรวมทั้งประเทศ จะพบภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกประมาณร้อยละ 2.38 โดยในปี 2557 มีทารกคลอดทั้งสิ้น 776,370 คน” ศ.คลินิก นพ.สุทธิพงษ์กล่าว และว่า ความพิการในทารกแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ และกลุ่มอาการดาวน์ ทั้งนี้ความพิการแต่กำเนิดปัจจุบันส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาด รวมถึงสามารถช่วยฟื้นฟูให้เด็กสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ โดยแม่ควรกินโฟเลตก่อนการตั้งครรภ์ และการลดภาวะปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image