ผอ.พัฒนาสังคมยูเอ็นเอสแคปชมไทยแบบอย่างที่ดีเรื่องหลักประกันสุขภาพ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมวิชาการสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 ระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เนื่องในโอกาสวันสังคมสงเคราะห์โลก เรื่อง “การส่งเสริมชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”  ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เป็นเป้าหมายใหญ่ของทุกคน ซึ่งเป็นการรวมมิติการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทั้งในส่วนของชุมชนที่มีองค์ประกอบไม่เพียงแต่เฉพาะด้านภูมิศาสตร์ หรือสังคมวิทยา แต่รวมถึงด้านจิตวิทยาในมุมของความเอื้ออาทร ความรัก และความมุ่งมั่น และในส่วนของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก จึงควรระบุไว้เป็นแผนปฏิบัติการของทุกภาคส่วน โดยประชาชนและประเทศที่เกี่ยวข้องต้องเชื่อมั่นในศักยภาพภายในและคุณค่าของประชาคม คนที่อาศัยอยู่ในหรือใกล้เคียงกับชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจและการปฏิบัติ นอกจากนี้ ผลประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากพื้นที่โดยรอบ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ต้องได้รับการบำรุงรักษาและมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

นายนาเกช คูมาร์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาสังคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (ยูเอ็น เอสแคป) กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยกับภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องความยากจนแม้จะมีความพยายามแก้ไข โดยยังพบประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 400 ล้านคนที่ประสบความยากจนอย่างรุนแรง แต่ได้มีการตั้งเป้าหมายภายในปี 2020 ที่จะทำให้ประชากรเหล่านั้นหลุดพ้นความยากจนรุนแรง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันทำงาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความยากจนยังคงอยู่ มาจากความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก การรับบริการสาธารณสุข โอกาสในการทำงาน การคุ้มครองทางสังคมน้อยหรือไม่เพียงพอ กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่เข้าถึงการพัฒนา ความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ระหว่างในเมืองและชนบท

นายนาเกช กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่พยายามลดความเหลื่อมล้ำ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินการทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพ การให้เบี้ยชดเชยในกลุ่มคนที่ต้องการการคุ้มครองทางสังคม รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมในมิติหญิงชาย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นท้าทายที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องตระหนักและรับมือกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ คนพิการกว่า 650 ล้านคนที่ถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติ และแรงงานอพยพที่มีกว่า 98 ล้านคน ทั้งนี้ ยูเอ็น เอสแคปได้ทำงานเชิงรุกร่วมกับประเทศสมาชิกและทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพประชากร เพื่อเป้าหมายของการเป็นสังคมที่ไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image