สปส.ยัน’ผู้ประกันตนพิการ’ ใช้สิทธิรักษา รพ.รัฐทุกแห่ง

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (เลขาธิการ สปส.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มในสังคมมีอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ และจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 58/2559 วันที่ 14 กันยายน 2559 เรื่อง การรับบริการสาธารณสุขของคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมที่กำหนดให้กองทุนประกันสังคมโอนสิทธิผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมไปใช้บริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสังคมแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่า มีคนพิการที่เป็นผู้ประกันตนและถูกโอนสิทธิไปใช้บริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เรียกร้องขอกลับมาใช้บริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวก

“สปส.จึงได้นำเสียงสะท้อนของผู้ประกันตนในการใช้สิทธิดังกล่าว มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผู้พิการมีโอกาสเลือกสิทธิตามความสะดวก และได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่ง รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแนวปฏิบัติในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลของรัฐที่ให้บริการผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตน โดยผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตน และใช้สิทธิบริการทางการแพทย์ของ สปส. (สิทธิเท่าเทียมกับผู้ประกันตนทั่วไป) ให้ใช้สิทธิผ่านโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ รวมทั้งให้ผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตน แต่ยังใช้สิทธิบริการทางการแพทย์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลของรัฐที่ให้บริการผู้พิการ ที่เป็นผู้ประกันตนในอัตราเดียวกับ สปสช.โดยกรณีเป็นผู้ป่วยนอกให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง” นพ.สุรเดช กล่าวและว่า ผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสังคม และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์กรณีอื่นจาก สปส.ได้เช่นเดิม ได้แก่ เงินค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ของผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตน กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ว่างงาน และชราภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image