ระบบพลาสมาเย็น-ลำไอออนเพิ่มมูลค่าพลอย งานวิจัยใหม่ วช.เตรียมต่อยอดเพิ่มมูลค่า

โดย นฤมล รัตนสุวรรณ์

“นักวิจัยไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” คำนี้ถูกพิสูจน์มาแล้วจากผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยกว่าร้อยชิ้น ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เผยแพร่งานวิจัย “ระบบพลาสมาเย็นเพื่อการประยุกต์ใช้ในงานการแพทย์และทันตกรรม” และ “การปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าพลอยเซฟไฟร์สีน้ำเงินธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีลำไอออน” โดยคาดว่างานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในสังคมได้

เริ่มจากงานวิจัยชิ้นแรกเป็นผลงานของหน่วยวิจัยเทคโนโลยีพลาสมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มช. และคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา สร้างระบบเจ็ทพลาสมาเย็นความดันบรรยากาศ ใช้ฆ่าเชื้อและแบคทีเรียในงานทันตกรรม และระบบพลาสมาเย็นแบบสัมผัส ใช้ในงานแพทย์เพื่อฟื้นฟูผิวหนัง

thumb_IMG_2678_1024

Advertisement

รศ.ธีรวรรณ บุญญวรรณ คณะวิทยาศาสตร์ มช. หนึ่งในคณะผู้วิจัยให้สัมภาษณ์ว่า คณะวิจัยสามารถพัฒนาวิจัยเครื่องที่ใช้พลาสมา สำหรับเคลือบเดือยฟันที่จะใช้ฝังเข้าไปในร่างกายซึ่งจะมีผลช่วยให้เซลล์สามารถยึดติดกันได้ดีขึ้น และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับศาสตร์ด้านความสวยความงาม โดยเป็นการใช้พลาสมาเย็น หรือที่เรียกว่า ระบบเมดิพลาสมา เพื่อการบำบัดแผลโดยมีกลไกการทำงานบำบัดกรณีแผลติดเชื้อ สามารถทำลายแบคทีเรียและกระตุ้นเนื้อเยื่อ ซึ่งนั่นสามารถนำมารักษาอาการผิวอ่อนแอจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการผิวติดสเตียรอยด์ อาการผิวบาง อาการหน้าแดง อาการติดเชื้อสิว แบคทีเรียเชื้อรา ทั้งบริเวณใบหน้าและลำตัว ซึ่งสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ที่มีปัญหาทางผิวหนังได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาอาสาทั้ง 60 คนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม มีสภาผิวหน้าดีขึ้นตามลำดับหลังจากทดสอบติดต่อกันทุกสัปดาห์ โดยลักษณะผิวหน้าที่เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน คือ ความตึงผิว ริ้วรอย ความเรียบเนียน ความขาวและสภาพผิวโดยรวม ยกเว้นเรื่องริ้วรอย ยังพบอีกว่าการรักษาจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับครีมเอมบลิกา ซึ่งตอนนี้ได้มีเพียง 3 เครื่องในไทยเท่านั้น ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ใน รพ.มหาราชเชียงใหม่ ศูนย์วางแผนครอบครัว และหน่วยงานเอกชน

ผลงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นคือ “การวิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าพลอยเซฟไฟร์สีน้ำเงินธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีลำไอออน” โดยมี รศ.ดวงแข บุตรกุล เป็นหัวหน้าโครงการและร่วมวิจัยกับคณะวิจัยอีกหลายคน

thumb_IMG_2671_1024

Advertisement

รศ.ดวงแข กล่าวว่า พลอยเซฟไฟร์ธรรมชาติสีน้ำเงิน เป็นอัญมณีที่มีค่าสำคัญและเป็นจุดแข็ง สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากที่สุด

“แต่พลอยที่ซื้อขายในตลาดปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยการเผาด้วยความร้อน ทำให้ใช้เวลาในการทำให้พลอยเปลี่ยนสีและไม่ใสสะอาดตามต้องการ จากนั้นจึงทดลองปรับปรุงคุณภาพพลอยด้วยเทคนิคลำไอออน ซึ่งอาศัยพลังงานจากกลไกการพุ่งชนของไอออนที่กำหนดเข้าไปกระตุ้น โดยปราศจากความร้อนสูง และพบว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาคุณภาพพลอยได้ ใช้เทคนิคลำไอออนเพื่อปรับปรุงคุณภาพพลอยนั้นเป็นเทคนิคที่ทำให้เนื้อพลอยไม่ได้รับความเสียหาย เพราะเป็นการให้พลังงานสูงแต่อุณหภูมิต่ำ ไม่เกิน 300 องศาเซลเซียส” นักวิจัยพลอยกล่าว

thumb_IMG_2693_1024

รศ.ดวงแขกล่าวว่า การใช้เทคนิคไอออนจะทำให้พลอยมีสีสวยสด เนื้อพลอยสะอาด ลดความขุ่นมัว ทำให้พลอยหลังจากการเจียระไนแล้วมีความสดใสแวววาวมากขึ้น และเมื่อนำไปประกอบกับตัวเรือนเครื่องประดับ สามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงยิ่งขึ้น และหวังว่าจะสามารถพัฒนาได้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอัญมณี

จากผลงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า “นักวิจัยไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ” เหมาะสมที่จะได้รับการสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image