เครือข่ายแรงงานรวมตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องค่าแรงเป็นธรรมพอเลี้ยงชีพ 3 คน วันละ 300 ไม่พอ

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 1 พฤษภาคม ที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เครือข่ายแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 3,000 คน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ฯลฯ ต่างทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรม “วันแรงงานแห่งชาติ” (เมย์เดย์) เพื่อเรียกร้องสิทธิลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทุกคน

ต่อมาเวลา 09.30 น. ผู้ใช้แรงงานได้เคลื่อนขบวนล้อมรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยประชาธิปไตย และตั้งเวทีซึ่งเป็นรถบรรทุกเคลื่อนที่ข้างหน้าอนุสาวรีย์ฯ โดยนายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. นายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ต่างขึ้นกล่าวข้อเรียกร้อง โดยส่วนใหญ่ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ขึ้นค่าจ้างตามความเป็นจริง โดย 300 บาทต่อวันไม่เพียงพอ เพราะแรงงาน 1 คนเลี้ยงดูครอบครัว 2 คน ค่าจ้างควรพอเลี้ยงจำนวนคน ส่วนจำนวนเท่าไรต้องมาหารือร่วมกัน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานได้เคยยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 10 ข้อ โดยในเรื่องค่าจ้างนั้น ปีนี้ไม่เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเรียกร้องทุกปี แต่ไม่เป็นผล เพราะเรียกร้องเมื่อไหร่ ค่าครองชีพขึ้นก่อนค่าแรง และค่าจ้างที่ขึ้นก็ไม่มากมาย ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างไม่ตอบโจทย์จุดนี้ ดังนั้น ปีนี้จึงเรียกร้องขอให้มีการปฎิรูปโครงสร้างค่าจ้างอย่างเป็นธรรมเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนอัตราเท่าไหร่นั้นต้องมาหารือร่วมกัน ยืนพื้นต้องมากกว่า 300-400 บาทต่อวัน เพราะค่าจ้างวันละ 300-310 บาท แค่คนเดียวยังไม่เพียงพอ ขณะที่ความเป็นจริงต้องเลี้ยงดูครอบครัวถึง 2 คน เรียกว่า มีพ่อ แม่ ลูก ซึ่งมากกว่า 600-900 บาทด้วยซ้ำ จึงต้องมาหารือกันทุกฝ่าย ทั้งรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ว่าต้องอัตราเท่าไร

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานได้ทำพิธีเปิดด้วยธีม “แรงงานสร้างชาติ ไม่เป็นทาส 4.0” และเคลื่อนขบวนเดินไปยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นอันเสร็จกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อาทิ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน อาทิ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี 3.รัฐต้องให้สัตยาอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจ ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อาทิ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 5.รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6.รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม เช่น จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐนายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกับสังคมพ.ศ.2533 และนำเงินส่งสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 เป็นต้น

7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 มาตรา 53) 8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม 9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และ 10.รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image