เครือข่ายสตรี เปิดวงเสวนาค้าประเวณี เตรียมยื่นหนังสือปลัดยธ. 2 พ.ค. ไม่ยอมรับผลสอบผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรี อาทิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม สหทัยมูลนิธิ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร และนักวิชาการ นักสังคมสงเคราะห์ กว่า 50 คน จัดงานเสวนา “เด็กกับวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อ สังคมไทยรับได้จริงหรือ?” โดยภายในงานนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์กรณีค้าประเวณีเด็กที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองเด็กและสตรีด้วย

โดยนางทิชา กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองเด็กและสตรี ขอเรียกร้องให้

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว ทั้งนี้การซื้อประเวณีเด็กและเยาวชนเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องไม่ละเว้นหรือทอดเวลาดำเนินการ โดยอ้างว่าหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกกล่าวหาได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในหน่วยงานแล้ว

2. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่ควรเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในของหน่วยงานด้วยกันเอง แต่ควรจัดตั้งเป็นคณะกรรมการที่มีบุคคลภายนอก โดยเฉพาะตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีเข้าร่วม เพื่อความโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้กล่าวหา ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญว่ารัฐบาลจริงใจต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษ
ย์
3. ในระหว่างที่มีการสอบสวนดำเนินคดี ให้กระทรวงมหาดไทยย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาออกจากการปฏิบัติราชการในพื้นที่เดิม ลดโอกาสที่ข้าราชการระดับสูงจะใช้อำนาจหรืออิทธิพลในหน้าที่เข้าไปแทรกแซงขัดขวางการทำงาน โดยไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีคนทำงานในพื้นที่ เพราะอำนาจแฝงนั้นมีอยู่จริง ซึ่งหากไม่ผิดจริงนี่เป็นการฟอกตัวโดยเครื่องมือที่งดงามที่สุด สุดท้ายใครจะพูดอย่างไรประวัติศาสตร์นี้คุณบริสุทธิ์

Advertisement

4. ให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีกระบวนการคุ้มครองพยานผู้เสียหายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหวังว่าพยานมีความหมายต่อสังคม ว่าถูกละเมิดหรืออยู่ในวงจรชั่วร้าย

ทั้งนี้ นางทิชา กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวนี้ หลายคนอ้างว่าไม่ได้ซื้อบริการ แต่กลายเป็นว่าก็รับรู้และไม่ได้ห้ามปรามใดๆ เพียงแค่คิดว่าทำผิดกฎหมายมาตรา 157 ก็เพียงพอแล้วที่ผู้กระทำผิดเหล่านี้จะต้องออกจากตำแหน่ง เพราะหากยังอยู่ในตำแหน่งจะทำให้พยานต่างๆ รวมถึงหลักฐานรายชื่อผู้กระทำผิดนั้นหายไป สิ่งต่างๆเกิดขึ้นนั้นเป็นมรดกบาปที่คนรุ่นก่อนเหลือไว้สู่ลูกหลาน ซึ่งถือได้ว่าปรากฏการณ์แม่ฮ่องสอนทำให้สังคมไทยตื่นขึ้น หลังจากที่คิดว่าการเลี้ยงดูปูเสื่อจางลงเพราะเราพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน และคนเหล่านี้จะรักษาศักดิ์ศรีตัวเอง โดยส่วนตัวจึงขอขอบคุณชาวแม่ฮ่องสอนที่ปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาว่าเรายังไปไม่ถึงไหน

Advertisement

“จากกระแสข่าวที่ว่าผลการสอบสวนพบว่าผู้ว่าฯ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทางเราขอประกาศต่อไปว่าเราไม่อาจยอมรับการสอบสวนนี้ได้ เนื่องจากว่าไม่โปร่งใส และไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับนับถือได้ โดยจากนี้ทางองค์กรสตรีจะได้เดินทางไปยื่นแถลงการณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยในวันอังคารที่ 2 พฤษภาคมนี้ เวลา 11.00 น. ทางกลุ่มจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายชาญเชาวน์ ไชยานุ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังจากผลสอบออกมาว่าผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอนไม่มีความผิด เพื่อจะบอกว่าเราไม่ยอมรับผลการสอบนี้” นางทิชากล่าว

นางชลีรัตน์ แสงสุวรรณ ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์สตรี กล่าวว่า วัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อนี้มีสะสมมาอย่างยาวนานในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เด็กหญิงไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงเพื่อนบ้านและบางครั้งเด็กผู้ชายด้วย นำเด็กไปสู่สถานบริการเหล่านี้และสร้างค่านิยมว่าผู้หญิงเหล่านี้ต้องการมาขายบริการเอง บางคนติดค่าทำศัลยกรรม ค่าเสริมสวยต่างๆ ไม่สิ้นสุดทำให้ไม่สามารถออกจากระบบนี้ได้ นอกจากนี้ในบริษัทเอกชนต่างๆ ก็มีการเลี้ยงรับรองต่างๆเช่นเดียวกันนี้ด้วย

ทิชา ณ นคร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image