พยัคฆ์ไพรยันขยายผลนายทุนรุกป่า ทุกพื้นที่ ชี้คดี 2 ผัวเมีย เก็บเห็ด โทษรุนแรงเพราะ มีไม้หายาก มาเกี่ยวข้อง

กรณีศาลฏีกาพิพากษา ตัดสินให้นางแดง และนายอุดม ศิริสอน 2 สามีภรรยา ในคดีร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จำคุก 5 ปี นั้น กระแสสังคมได้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ได้มีการดำเนินการเพื่อขยายผลหาคนกระทำผิดในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มเติมหรือไม่นั้น

วันที่ 3 พฤษภาคม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการส่วนกิจการพิเศษ และหัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนงนั้น หลังจากเกิดเรื่องนี้ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร ลงพื้นที่เพื่อสืบหาข่าวเพื่อขยายผลมาตลอด พบว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าว มีทั้งประชาชนบุกเองเพื่อเอาพื้นที่ทำไร่มันสำปะหลัง และ การเข้าไปลักลอบตัดไม้ของขบวนการตัดไม้ ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นจะเป็นป่าปลูก ไม้สัก โดยนายทุนที่เข้าไปตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นนายทุนจากนอกพื้นที่ ขนไม้ออกนอกพื้นที่ไปเลย หากได้ไม้ตามวัตถุประสงค์แล้วจะไม่กลับเข้าไปอีก รอบๆป่าดังกล่าวเราไม่พบโรงเลื่อย และเบาะแสการใช้ไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ชาวบ้านในพื้นที่ใช้แค่ไม้กระยาเลยเท่านั้น การเข้ามาตัดไม้จะตัดครั้งละล๊อตใหญ่ๆตามออร์เดอร์เท่านั้น การขยายผลเพื่อหาต้นตอใหญ่ของการกระทำผิดนั้น เจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ตลอดเวลา

“ถามว่า ทำไม 2 สามีภรรยานี้จึงถูกตัดสินจำคุก 5 ปี รุนแรงไปหรือไม่สำหรับชาวบ้าน ผมมองว่าศาลท่านก็ตัดสินไปตามหลักฐาน จะเห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายการผ่อนปรนการใช้ที่ดินของผู้ยากไร้ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ดินเป็นส่วนประกอบของการดำรงชีพ แต่กรณีนี้มีเรื่องของไม้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม้ใช้สอยเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งกฏหมายป่าไม้นั้นเราได้กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ไม่สัก ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน นั้นเป็นไม้ที่มีอยู่น้อยค่อนข้างหายาก เป็นไม้ประเภท ก ใครตัดไม้พวกนี้จะต้องได้รับโทษค่อนข้างรุนแรง”นายชีวะภาพ กล่าว

หัวหน้าชุดปฏิบัติการพัยัคฆ์ไพร กล่าวว่า อยากจะชี้แจงให้สังคมเข้าใจว่า กฏหมายไม่ได้แยกแยะว่าใครจนหรือรวย หากกระทำผิดก็จะต้องได้รับโทษเสมอกัน อย่างไรก็ตามเวลานี้รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการผ่อนปรนสำหรับการเข้าไปใช้ที่ดินในพื้นที่ป่าสำหรับบุคคลยากไร้ ซึ่งมีคนยากไร้จำนวนมากที่ได้รับโอกาสดังกล่าวทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ป่า ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนเรื่องการดูแลรักษาป่าควบคู่ไปด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image