ชวนคนไทยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ ‘อุทิศอวัยวะเมื่อสูญสิ้น สู่ความดีไม่สิ้นสุด’

ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ร่วมรณรงค์บริจาคอวัยวะและดวงตา

การให้ชีวิต จัดเป็นผลบุญอันใหญ่หลวงสำหรับการต่อชีวิตคนคนหนึ่ง แต่จะมีสักกี่คนที่จะเสียสละต่อชีวิตแก่บุคคลที่เราไม่เคยรู้จักเลย…

“มนุษย์เราเมื่อตายไป เข้าสู่พิธีทางศาสนา มีการเผา เก็บอัฐิ ลอยอังคาร สุดท้ายก็กลับคืนสู่ธรรมชาติ เราไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้ แม้แต่ร่างกาย อวัยวะของเรา มีเพียงความดีที่กระทำเท่านั้น ดังนั้น การบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น จึงเป็นการเสียสละที่ก่อบุญมหาศาล…แต่หลายคนก็ยังกลัวและยังไม่กล้าตัดสินใจในการบริจาคอวัยวะเมื่อยามดับสูญ” นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวขึ้นถึงปัญหาของการรับบริจาคอวัยวะที่ปัจจุบันยังน้อยมาก

ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ยังหวาดวิตกว่า การบริจาคอวัยวะเมื่อยามเสียชีวิตไปแล้วนั้น จะส่งผลต่อความเชื่อถึงชาตินี้ชาติหน้า ขณะที่ญาติพี่น้องบางครอบครัวก็ไม่อนุญาต

Advertisement

นพ.วิศิษฎ์ บอกว่า ปัจจุบันมีคนรอรับบริจาคอวัยวะมากกว่า 5 พันคน แต่มีผู้รับอวัยวะไปแล้ว 500-600 คนเท่านั้น ซึ่งอวัยวะที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นไต ตับ หัวใจ สิ่งสำคัญต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมว่า การบริจาคอวัยวะและดวงตา จัดเป็นบุญในการช่วยชีวิต อย่ากลัวว่าบริจาคไป เมื่อเราไปเกิดในชาติหน้าจะทำให้พิการ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ แต่ที่แน่ๆเราทำดีก็ต้องได้สิ่งดีๆ แต่ก็เข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องช่วยกันหลายๆฝ่าย เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นที่ผ่านมาพบว่า 80% เห็นด้วยกับการบริจาคอวัยวะ แต่มีเพียง 20% ที่ยอมบริจาคอวัยวะ

ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กรมการปกครอง กรมการขนส่ง อย่างกรมการปกครอง เมื่อไปทำบัตรประจำตัวประชาชน จะมีแบบฟอร์มให้กรอกว่า พร้อมจะบริจาคอวัยวะหรือไม่ หากพร้อม ข้อมูลก็จะใส่ลงไปในชิปการ์ด ซึ่งปัจจุบันจะมีคนมาทำบัตรประชาชนประมาณปีละ 5 ล้านคน อาจมาจากบัตรหาย ต่ออายุบัตร ฯลฯ ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งก็จะมีลักษณะคล้ายๆกัน โดยหากใครบริจาคอวัยวะ ก็จะมีรูปกาชาดติดที่ใบอนุญาตขับรถ ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าจะมีคนมาบริจาคเพิ่มขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นอีกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญ โดย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. บอกว่า ปัจจุบันผู้รอรับบริจาคอวัยวะมีจำนวนมา อย่างผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีเป็นแสนคน ทุกวันนี้ต้องล้างไตผ่านช่องท้อง ร่วมกับการฟอกเลือด แต่วิธีดีที่สุดคือการเปลี่ยนไต ซึ่งก็ต้องรอรับบริจาค ขณะที่ดวงตาก็เช่นกัน มีผู้มองไม่เห็นกว่า 12,000 คน แต่ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจริงๆเพียงปีละ 600-700 คน สธ.จึงร่วมกับสภากาชาดไทยในการรณรงค์เชิญชวนคนมาบริจาค ขณะเดียวกันก็มีนโยบายในการตั้งการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เป็น 1 ใน 5 กลุ่มสาขาเชี่ยวชาญพิเศษของโรงพยาบาล เรียกว่า Excellent Center

Advertisement

“นอกจากให้โรงพยาบาลพัฒนาศักยภาพจนเป็น Excellent Center ด้านนี้แล้ว ส่วนกลางยังสนับสนุนในแง่บุคลากร โดยโรงพยาบาลที่สามารถพัฒนาจุดนี้ได้จะต้องตั้งพยาบาลสำหรับทำหน้าที่ประสาน พูดคุยกับญาติ กรณีผู้เสียชีวิตว่า จะพร้อมบริจาคอวัยวะหรือไม่ หรือแม้แต่ผู้เสียชีวิตที่ตอนมีชีวิตอยู่จะแสดงความจำนงว่าจะบริจาคอวัยวะแล้ว เราก็ต้องสอบถาม ซึ่งพยาบาลจะได้เป็นพยาบาลชำนาญการพิเศษ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ” ปลัดสธ.กล่าว
นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 ในฐานะผู้ประสานงานด้านนี้ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามีคนรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะมาก อย่างปี 2558 มีคนรอรับบริจาค 5,018 คน ต่อมาปี 2559 รอรับบริจาคที่ 5,581 แต่รับปลูกถ่ายจริงๆ ประมาณ 500 คน ระหว่างการรอ ในปี 2558 เสียชีวิตไปแล้ว 111 คน ขณะที่ปี 2559 ระหว่างรอเสียชีวิตไป 110 คน และยังมีผู้ป่วยรายใหม่ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอีกประมาณพันคน แต่หากเราได้รับการบริจาคอวัยวะจากผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตายก็จะช่วยต่อชีวิตคนอื่นๆได้อีก ซึ่งหากเก็บดีๆ อวัยวะของผู้เสียชีวิต 1 คนจะช่วยคนมีชีวิตต่อได้อีกถึง 8 คน

ทั้งนี้ ปลัดสธ. ได้ให้ความสำคัญและวางแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โดยให้การบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นหนึ่งในกลุ่มสาขาของระบบ และพัฒนาจนเป็น Excellent Center ซึ่งปัจจุบันมีรพ.ในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตสุขภาพที่สามารถบริจาคอวัยวะและดวงตาได้หมดทั่วประเทศ แต่ปลูกถ่ายไต จะทำได้ใน 9 เขตสุขภาพไม่รวมพื้นที่กทม. โดยยังเหลืออีก 3 เขตสุขภาพ ซึ่งคาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มมาอีก 1 เขต คือ เขต 5 และปี 2561 จะได้เขต 4 และเขต 3 โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) เพราะมีบุคลากรพร้อม เนื่องจากต้องใช้แพทย์หลายสาขา

ในเรื่องการบริจาคดวงตาก็สำคัญ ปัจจุบันมีคนไข้รอเปลี่ยนกระจกตาจำนวน 11,591 คนในปี 2559 แต่ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาประมาณ 700-800 คน อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า การรับอวัยวะจากผู้บริจาคจะต้องเสียชีวิตจากสมองตาย แต่หากบริจาคดวงตา จะเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือภาวะอื่นก็ได้ โดยจุดพิเศษคือ ดวงตาสามารถเก็บได้ถึง 6 ชั่วโมง หลังจากเสียชีวิต เป็นเรื่องน่าแปลกที่คนที่บริจาคอวัยวะ มักอายุยืน เพราะเขาอาจดูแลร่างกาย ดูแลตัวเองดีขึ้น

เมื่อถามถึงข้อกังวลในเรื่องการบริจาคนั้น นพ.สมยศ บอกว่า ปัญหาหนึ่งคือการพูดคุยกับญาติเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะพบว่า 30% ญาติไม่ยินยอม เพราะกังวลว่าหากบริจาคไปแล้ว ชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย พูดง่ายๆอย่างบางคนตัดมดลูก หรือบางคนถอดฟัน มีแต่ฟันปลอม ชาติหน้าจะไม่มีฟันหรือไม่ ก็ไม่ใช่ จึงเป็นความเข้าใจผิด เราก็ต้องทำความเข้าใจกับญาติ ซึ่งรพ.ต่างๆจะมีพยาบาลในการประสานงานขอรับบริจาคอวัยวะ เป็นตัวกลางในการทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งพยาบาลกลุ่มนี้ต้องผ่านการอบรมจากกระทรวงฯ และจากสภากาชาดไทย เพราะจะมีทักษะเจรจา และทักษะการปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ๆจะไปขอเลย

อย่างไรก็ตาม จากนโยบาย สธ. ในการตั้งกลุ่มสาขาบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ส่งผลให้รพ.ในสังกัดหลายแห่งมีศักยภาพทั้งรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ อาทิ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.ชลบุรี รพ.ขอนแก่น รพ.ร้อยเอ็ด

นับเป็นการทำความดีครั้งสุดท้ายแต่ไม่สิ้นสุด ใครที่สนใจร่วมบริจาคติดต่อได้ที่รพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ …

นพ.สมยศ ศรีจารนัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image