นายกทันตแพทยสภาคนใหม่ เดินหน้าสอบจรรยาบรรณ “ดลฤดี” หนีทุน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภา ที่มี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีการเลือกตั้งนายกทันตแพทยสภา และเปิดตัวกรรมการทันตแพทยสภาชุดใหม่ เนื่องจากกรรมการทันตแพทยสภาชุดเดิมจะหมดวาระลงในวันที่ 20 มีนาคม 2559 ซึ่งในที่ประชุมได้มีลงมติเลือก ทพ.ไพศาล กังวลกิจ เป็นนายกทันตแพทยสภาคนใหม่ ผศ.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเลขาธิการทันตแพทยสภา ทพ.นฤมนัส คอวนิช รองเลขาธิการทันตแพทยสภา และ พ.ต.อ.ทพ.พิมล บำรุง เหรัญญิกทันตแพทยสภา ซึ่งกรรมการชุดใหม่จะเริ่มวาระอย่างเป็นทางการวันที่ 21มีนาคม 2559

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ทันตแพทยสภาชุดใหม่จะดำเนินการขับเคลื่อนใน 3 ประเด็น คือ 1.ขับเคลื่อนให้วิชาชีพทันตแพทย์มีความก้าวหน้า มั่นคง ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ความรู้ทางวิชาการ และบริบทสังคม 2.ส่งเสริมให้ทันตแพทย์ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในกิจการของทันตแพทยสภามากที่สุด ทั้งการรับรู้ และการให้ความคิดเห็นต่างๆ และ 3.ทำให้ประชาชนมีความไว้วางใจในทันตแพทย์ เข้าถึงบริการทันตกรรมได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัย และมีสุขภาพอนามัยช่องปากที่ดี ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมจากเดิมที่ให้ตลอดชีวิต มาเป็นการต่ออายุทุก 5 ปีนั้น ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาวิชาชีพทันตแพทย์ให้มีความก้าวหน้า เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ตัวกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนี้ทันตแพทย์ในประเทศไทยยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14,600 คน ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรม และไปรับบริการจากหมอฟันเถื่อนตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่างๆ ซึ่งสัดส่วนของทันตแพทย์ต่อประชากรในพื้นที่ที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 3,000 ประชากร แต่ปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 5,000 ประชากร พื้นที่ที่เป็นปัญหาคือภาคอีสาน โดยบางพื้นที่อัตราส่วนทันตแพทย์อยู่ที่ 1 ต่อ 14,000 ประชากร ถือว่าน้อยมาก

“ส่วนกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น ภายหลังกรรมการทันตแพทยสภาชุดเดิมมีมติกล่าวโทษไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ เพื่อพิจารณาว่าการกล่าวโทษนั้นมีเหตุในเรื่องของการผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ซึ่งกระบวนการพิจารณาจะใช้เวลามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลและผู้เกี่ยวข้องเป็นเช่นไร แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 -6 เดือน ซึ่งภายในเดือนนี้จะมีการเรียกผู้เสียหายทั้ง 4 คนมาให้ข้อมูล เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ ทางคณะอนุกรรมการฯ จะส่งเรื่องกลับมายังคณะกรรมการทันตแพยสภา ซึ่งไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรจะมีการแจ้งไปยังเจ้าตัวให้รับทราบต่อไป” ทพ.ไพศาล กล่าว และว่า ส่วนใหญ่ทันตแพทย์จบใหม่จะไปใช้ทุนตามต่างจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี ส่วนน้อยที่จะไม่ไปใช้ทุนคาดว่าไม่เกิน 10% ซึ่งผู้ที่ไม่ใช้ทุนนั้นก็ต้องจ่ายเงินตามสัญญาเป็นจำนวน 400,000 บาท ไม่มีการปรับเพิ่มมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามในการเสนอปรับเพิ่มเงินที่ต้องใช้ทุนคืนเป็น 1.2 ล้านบาท ซึ่งยังติดขัดข้อกฎหมายอยู่
////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image