ม็อบประมงชุมพรกว่า 500 คน ยื่นหนังสือให้รัฐบาล ทบทวนพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 8 พฤษภาคม ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร ผู้ประกอบการประมงจาก 6 อำเภอติดชายทะเลชาวประมงในพื้นที่ จ.ชุมพร ประมาณ 500 คน นำโดยนายนุกร ธารีรัตนาพิบูล ผู้ประกอบการแพเรือสามารถและกิจกรรมต่อเนื่อง นายกสมาคมประมงจังหวัดชุมพร ได้ชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ รอง ผวจ.ชุมพร ได้รับมอบหมายจากนายณรงค์ พลละเอียด ผวจ.ชุมพรให้ลงมาเจรจาและรับมอบหนังสือจากตัวแทนผู้ชุมนุม มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตามที่ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย “หมวดว่าด้วยการล่วงล้ำลำแม่น้ำ” อาทิ การเพิ่มโทษจำคุก เพิ่มค่าปรับ และขั้นตอนการปฏิบัติของกรมเจ้าท่า ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวประมงและผู้ประกอบการเรือประมงทุกชนิดที่มีความจำเป็นในการขนถ่ายสัตว์น้ำและกิจกรรมต่างๆ บริเวณแพปลาและท่าเทียบเรือประมง ครอบครัวแรงงานประมงทั้งชาวไทยและต่างด้าว รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง เช่น รถขนส่งสินค้าประมงทั้งในและต่างประเทศ การขนส่งสินค้าเข้า-ออก โรงงานปลาป่น ตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เรือท่องเที่ยวระหว่างเกาะ ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ประกอบการทุกคนต้องการเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง แต่ติดขัดในนโยบายของรัฐ จึงเป็นปัญหาให้ไม่สามารถนำหลักฐานเอกสารสิทธิในที่ดินไปขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าในเรื่องการก่อสร้างท่าเทียบเรือ แพปลา ที่ต้องใช้พื้นที่รุกล้ำลำน้ำ เพื่อให้เรือประมงได้เข้ามาเทียบท่าและขนถ่ายสัตว์น้ำได้สะดวก อีกทั้งกรมเจ้าท่าก็มิได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงและบังคับใช้กฎหมายฉบับก่อนๆ ต่อผู้ประกอบที่ก่อสร้างท่าเรือ แพปลา

ในหนังสือร้องเรียนระบุต่อไปว่า ต่อมากรมเจ้าท่าได้แจ้งประชาสมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ โดยให้นำหลักฐานไปแจ้งกับสำนักงานเจ้าท่าในพื้นที่ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ซึ่งพบปัญหาว่าผู้ประกอบการไม่สามารถหาหลักฐานที่กรมเจ้าท่าต้องการได้ และใกล้ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการ ชุมชนประมง ครัวเรือที่อยู่ตามริมฝั่ง ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และหากมีการปิดท่าเรือ แพปลา จะส่งผลกระทบต่อชาวประมงและเรือประมงเป็นจำนวนมาก ชาวประมง จ.ชุมพรจึงขอความอนุเคราะห์จากนายกรัฐมนตรีในการทบทวน พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฉบับดังกล่าว และหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยการบังคับใช้กฎหมายมานานแล้ว

นอกจากนั้น ผู้ชุมนุมยังได้ยื่นหนังสืออีก 1 ฉบับ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ด้วยการจัดตั้งศูนย์ ONE STOP SERVICE บริเวณชายแดนเพื่อเป็นจุดรับ-ส่งแรงงานต่างด้าว ที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งแก้ปัญหาด้านความมั่นคง ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และปัญหาเรื่องโรคติดต่อที่มาจากแรงงานต่างด้าว 2.ให้รัฐใช้มาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ให้อธิบดีกรมประมงใช้อำนาจอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือคนประจำเรือ (SEA BOOK) แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ได้แรงงานประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3.หากไม่ดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 ได้ ขอให้มีการเปิดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงเป็นการเฉพาะ

หลังมอบหนังสือต่อรอง ผวจ.ชุมพรแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงจึงสลายการชุมนุม แยกย้ายกันเดินทางกลับ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image