พม.ชี้แจงความหมาย ‘ค้ามนุษย์-ค้าประเวณี’ หลังสังคมมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ไมตรี อินทุสุต ปลัดพม.

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม “ประชารัฐร่วมใจ…ต้านภัยค้ามนุษย์” ครั้งที่ 7 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม ว่า พม.ได้หารือร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และภาคประชาสังคม เพื่อรวมพลังในการเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแนวการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็น​สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ปลัด พม.กล่าวอีกว่า โดยที่ประชุมได้หารือถึงความหมายของการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคำว่า “การค้ามนุษย์” กับ “การค้าประเวณี” คือโดย​การค้ามนุษย์ เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคล โดยเฉพาะจากผู้หญิง เด็กหญิง และเด็กชาย ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม มีนายหน้าเป็นธุระ จัดหา ชักชวน หรือถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึงแม้จะไม่มีสภาพถูกกักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือบังคับให้ค้าประเวณี ก็ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ ​ส่วนการค้าประเวณี เป็นเรื่องของการสมัครใจขายบริการทางเพศของบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยการตกลงกันของทั้งสองฝ่าย ไม่มีการกักขัง หน่วงเหนี่ยว

ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จะเข้าข่ายการบังคับใช้ตามกฎหมายค้ามนุษย์ที่ได้เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โทษจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้วแต่ฐานความผิด และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินคดีของไทยว่าจะมีความโปร่งใสและเป็นธรรม

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image