กระทรวงหมอวุ่น! รพ.ตำบลนับหมื่นขึ้นป้ายร้องค่าตอบแทน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งทั่วประเทศขึ้นป้ายบริเวณหน้ารพ.สต.ข้อความ วอน! รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขและ “วอนกระทรวงสาธารณสุขเร่งลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ค่าตอบแทนต่างกันเป็น 100 เท่า” อาทิ รพ.สต.นากว้าง รพ.สต.บ้านขาว รพ.สต.นาดี รพ.สต.นาข่า รพ.สต.โคกสะอาด และ รพ.สต.ปากดง เป็นต้น

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทยและผู้ประสานงานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ประเทศไทย กล่าวว่า  รพ.สต.ทั่วประเทศมีประมาณ 1 หมื่นแห่ง ขณะนี้มีหลายแห่งทยอยขึ้นป้ายตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และจะติดไว้ตลอดเดือนมีนาคม เพื่อเป็นการแสดงถึงข้อเรียกร้องแบบสันติ ที่ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมากในแต่ละวิชาชีพที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขเหมือนกัน โดยในส่วนงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ สธ.ปีละ 3,000 ล้านบาทเป็นค่าตอบแทนให้กับบุคลากรที่อยู่ในหน่วยบริการที่เป็นพื้นที่ที่มีความกันดาร เสี่ยงภัยและประชากรน้อย แต่พบว่าการจัดสรรค่าตอบแทนดังกล่าวระหว่างวิชาชีพต่างๆมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก

นายริซกีกล่าวว่า บางวิชาชีพได้ถึง 60,000 บาท แต่บางวิชาชีพได้เพียง 600 บาท ต่างกันถึง 100 เท่า ทั้งที่เป็นวิชาชีพที่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน ยิ่งในส่วน รพ.สต.ที่มีหมออนามัย นักวิชาการสาธารณสุขทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่แทบไม่ได้รับความสนใจเลย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมใน 3 ข้อ ดังนี้ 1.การกำหนดหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร หลักเกณฑ์ของ สธ.กำหนดหน่วยบริการเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งที่ รพ.สต.ตั้งอยู่ในระดับตำบลมีความกันดารและห่างไกลกว่า รพช.ที่อยู่ในระดับอำเภอ โดยบางพื้นที่ในอำเภอเดียวกัน แม้ รพช.จะได้รับการจัดเป็นพื้นที่ปกติ แต่ รพ.สต.บางแห่งกลับมีความกันดาร อยู่บนดอย เพราะเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาจะดูจากความเจริญ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าสะดวกซื้อ ซึ่งในระดับตำบลที่ รพ.สต.ตั้งอยู่ส่วนใหญ่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่เลย  

นายริซกีกล่าวอีกว่า 2.เรื่องอายุราชการก็มีความไม่เป็นธรรม บางวิชาชีพถูกกำหนดให้มีเพียง 2 ระดับ แต่บางวิชาชีพกลับแบ่งเป็น 3 ระดับ ส่งผลให้ค่าตอบแทนแตกต่างกันด้วย เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข อายุงานระดับ 1 ทำงาน 1-3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 600 บาท ระดับ 2 ทำงาน 4 ปีขึ้นไป ได้รับ 900 บาท หากเทียบกับวิชาชีพแพทย์ ที่อายุงานระดับ 1 ทำงาน 1-3 ปี  ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท ระดับ 2  อายุงาน 4-10 ปี ได้รับ 12,000 บาท และระดับ 3 อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับ 15,000 บาท และได้รับสูงสุดถึง 60,000 บาท หากทำงานอยู่ในพื้นที่กันดารเกิน 10 ปี  และ 3.ใน รพช.ที่มีการให้ค่าตอบแทนตามภาระงานหรือพีฟอร์พี กลับพบว่ามีการกำหนดค่ากิจกรรมต่างกันในแต่ละวิชาชีพ  ทำให้หากมีปริมาณชิ้นงานที่เท่ากันคือ 1,000 ชิ้น บางวิชาชีพจะได้ค่าตอบแทนแค่ 100-200 บาท แต่บางวิชาชีพกลับได้ 1,000-2,000 บาท ตรงนี้ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม

Advertisement

“ขอเรียกร้องให้ สธ.แก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ 3  ข้อ คือ 1. ปรับปรุงนิยามหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร โดยกำหนดให้กับ รพ.สต.ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเพียง รพ.เท่านั้น  2.เพิ่มอายุการทำงานจากที่บางวิชาชีพมีเพียง  2 ระดับให้มีอายุงาน 3 ระดับเหมือนกันทุกวิชาชีพ  และ 3.การคูณค่าจำนวนชิ้นงานในแต่ละ รพช.ก็ควรเหมือนกันทุกวิชาชีพ ทั้งนี้ สธ.ควรตั้งคณะทำงานในการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ โดยให้มีผู้แทนจากวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมด้วย” นายริซกี กล่าว

st5

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image