ขรก.บำนาญยึดมั่นคำสอน ‘ในหลวงร.9’ เป็นข้าราชการต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์

นางประติชญา นนทไชย (คนที่ 2 จากขวา) พร้อมกลุ่มเพื่อนทั้งข้าราชการครูและข้าราชการสำนักงานที่ดินนครนายก

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 200 ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศแต่งกายด้วยชุดสีดำไว้ทุกข์เดินทางมาต่อแถวรอกราบถวายสักการะอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าวตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ ทางสำนักพระราชวังเปิดประตูวิเศษไชยศรีให้ประชาชนเข้าตั้งแต่เวลา 04.45 น. จากเปิดปกติเวลา 08.00 น.

ขณะที่ บริเวณหน้าประตูสรีสุนทร ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นประตูทางออกของพสกนิกรหลังกราบสักการะพระบรมศพ การนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราชทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน อาทิ ผัดพริกไก่ใส่หน่อไม้ ข้าวน้ำพริกลงเรือ พิซซ่า บะหมี่หมูแดง หมูผัดพริกขิง แตงโมไร้เมล็ด เฉาก๊วยชากังราวและมีน้ำดื่มให้บริการตลอดทั้งวัน

ว่าตรีร้อยตรีโกศล สุวรรณมณี ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา เปิดเผยความรู้สึกภายหลังนำคณะผู้บริหารและคุณครูร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศล ว่า เป็นโอกาสสำคัญที่ได้ร่วมส่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย โดยพระองค์เป็นผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่บ้านเมือง ทั้งเรื่องการทรงงานหนัก โครงการตามพระราชดำริและแนวทางคำสอน โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาที่พระองค์ทรงมอบนโยบายต่อการทำงานในโรงเรียนทั่วประเทศ ครั้งนี้ถือเป็นความปลาบปลื้มใจยิ่งต่อตนและคณะยิ่ง เนื่องจากโรงเรียนมหาวชิราวุธได้เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์มาแต่อดีต โดยพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนขึ้น ต่อมาทำให้คณะครูและนักเรียนยึดคุณงามความดีของกษัตริย์มาปรับใช้เสมอ ส่วนแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตนในฐานะผู้อำนวยการก็ได้น้อมนำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ อย่างการบริหารจัดการและการปลูกฝังในเยาวชน โดยให้เยาวชนถือเอามาเป็นแบบอย่างตั้งแต่พระจริยวัตรจนโครงการต่างๆ

“ทางโรงเรียนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเน้นในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ตลอดจนให้นักเรียนได้เรียนรู้ในวิชาศาสตร์แห่งพระราชา ปราญช์แห่งการเพาะปลูก และปราญช์แห่งน้ำ พร้อมทั้งให้นักเรียนจัดตั้งเป็นโครงงานต่างๆ ส่วนตนก็ได้นำเรื่องหลักการทรงงานมาใช้ โดยเฉพาะเพื่อเป็นคติเตือนใจครั้นทำงานเหนื่อย แม้แต่วันไหนที่รู้สึกท้อแท้ก็หวนมานึกถึงพระองค์ท่าน ทำให้ตนมีกำลังใจในการทำงานทุกครั้ง ท้ายสุดนี้ก็อยากให้ทุกคนไทยนึกถึงพระองค์ท่านและอยากให้ปลูกฝังเรื่องราวของท่านในเด็ก ที่จะเป็นเยาวชนชาติในอนาคตต่อไป” ผู้อำนวยการกล่าวอย่างตื้นตันใจ

Advertisement

 

ว่าที่ตรีร้อยตรีโกศล สุวรรณมณี

นายสมบูรณ์ แขวงโสภา ข้าราชการบำนาญวัย 78 ปี ชาวต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมาพร้อมลูกหลานและญาติๆ รวม 8 คน กล่าวว่า เพิ่งมีโอกาสได้มากราบสักการะพระบรมศพครั้งแรก ประทับใจในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เด็กๆ จนเมื่อมีโอกาสมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ จำได้ว่าวันพืชมงคล ได้ไปรอรับเสด็จที่สนามหลวง ได้ชื่นชมพระบารมีใกล้ๆ เพราะอยู่ต่างจังหวัดได้แค่รับเสด็จห่างๆ ข้างทางเวลารถขบวนเสด็จแล่นผ่าน ต่อมาเรียนจบและได้ทำงานเป็นข้าราชการส่วนปฏิรูปที่ดิน กระทรวงเกษตรฯ ถึงได้ทำงานสนองพระเดชพระคุณพระองค์โดยตรง เป็นข้าราชการก็คือเป็นข้ารับใช้พระราชา ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวข้าราชการว่า ขอให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ พร้อมๆ กับมัธยัสถ์ รู้จักเผื่อแผ่แก่ราษฎร ผมยึดถือสิ่งนี้เรื่อยมา เวลามีการจัดสรรที่ดิน ก็จะนึกถึงเกษตรกร หรือชาวบ้านที่ยากจนก่อน ให้มีที่ทางทำมาหากิน ให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองให้ได้ ขณะเดียวกันผมเองเกษียณมาแล้วก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ชีวิตอย่างเงียบง่าย กินอยู่พอเพียง แล้วยังไปช่วยถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ให้ชาวบ้านด้วย ทำให้เรายังมีคุณค่าแม้จะเลยวัยทำงาน และต้องพักผ่อนอยู่บ้านแล้วก็ตาม” อดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

Advertisement

 

นายสมบูรณ์ แขวงโสภา (กลาง) พร้อมครอบครัว

ขณะที่ นางประติชญา นนทไชย อายุ 56 ปี ข้าราชการครูโรงเรียนวัดเอี่ยมประดิษฐ์ จ.นครนายก มาพร้อมกลุ่มเพื่อนทั้งข้าราชการครูและข้าราชการสำนักงานที่ดินนครนายก พร้อมคณะรวม 9 คน เดินทางทั้งแต่ 05.00 น. และใช้เวลารอไม่เกิน 2 ชม. ก็ได้เข้ากรายพระบรมศพ กล่าวว่า ได้มากราบเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เลยนำเพื่อนๆ น้องๆ มากราบซึ่งเป็นครั้งแรก โดยรอให้เป็นช่วงวันหยุดเพื่อจะได้มาพร้อมกัน ทั้งนี้ เพราะพวกเรารักและปลาบปลื้มพระองค์มาก ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นว่าท่านทรงงานหนัก เสด็จฯ ไปทั่วประเทศแม้ในถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีถนนหนทางก็ยังทรงเข้าไปช่วยเหลือพัฒนา โดยเฉพาะที่จังหวัดนครนายก พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนขุ่นด่านปราการชล เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเกิดปัญหาน้ำท่วม และเป็นแหล่งน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มออกจากพื้นที่ จากเมื่อก่อนเป็นน้ำกร่อยนำน้ำมาใช้ในการเกษตรไม่ได้ แต่ตั้งแต่มีเขื่อนก็ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมและมีน้ำใช้ในการเกษตร เกษตรกรสามารถทำนาได้เกือบตลอดจากที่เคยทำนาได้เพียงปีละครั้ง ทำให้มีงาน มีอาชีพและรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ตลอด

สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม หลังปิดการขึ้นกราบถวายสักการะพระบรมศพ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 21.02 น.ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 29,615 คน รวม 199 วัน มี 7,153,706 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 1,587,860.75 บาท รวม 199 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 566,140,799.76 บาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image