นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ออกมาเรียกร้องให้คณะสงฆ์สนใจท่าทีของนายกฯ ว่าอาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ จนถึงขั้นตัดสินใจดองเรื่องการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พร้อมระบุว่าเมื่อนายกฯ หวั่นเกรงว่าความขัดแย้งจะบานปลาย นายกฯ ควรหาทางยุติปัญหาก่อนโดยจะเลือกไปทำความเข้าใจกับคณะสงฆ์ 3 แสนรูปทั่วประเทศ หรือจะไปคุยกับขบวนการ 3 พ ซึ่งเป็นคนพวกเดียวกันให้หยุดเคลื่อนไหวนั้น ว่า ตนอยู่ในสภาฯ มานาน รู้ราชประเพณีของการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร นายจตุพร และพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ) ทำเหมือนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นเหมือนการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีโควต้า เมื่อส่งใครไปแล้ว ก็ต้องรีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยเร็ว ใครจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นคนละเรื่องกัน และการที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้ก็เพราะพวกเขาปลุกปั่นกันเอง โดยออกมาเคลื่อนไหวขู่จะก่อม็อบ ซึ่งยิ่งทำให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์มัวหมอง เพราะถ้าไม่ออกมาเคลื่อนไหว คนเขาก็คิดว่าตนกล่าวหาลอยๆ แต่เมื่อออกมาเคลื่อนไหวขู่จะก่อม็อบ คนก็ยิ่งสนใจ อยากรู้และเข้าไปตรวจสอบ
“การที่ผมเข้าไปตรวจสอบสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ก็เพราะมีการเสนอนามเพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเพราะตำแหน่งสังฆราช จะมีมลทินไม่ได้ และกรณีของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีข้อครหาและข้อกล่าวหา 3 ประการ ได้แก่ 1.คดีรถหรูซึ่งเป็นคดีเก่าที่ค้างคาอยู่ในกระบวนการกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเข้าข่ายผิดทั้งกฎหมายและเข้าข่ายผิดพระธรรมวินัยเรื่องสะสมทรัพย์สิน 2.ข้อกล่าวหาที่ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน เช่น ความมัวหมองในแง่สนับสนุนพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทั้งที่มีพระลิขิตจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้วว่าปาราชิก แต่ท่านในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม กลับไปเลื่อนสมณศักดิ์ให้ แทนที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของมส. และ3.วัตรปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย โดยไปร่วมทำกิจรรมกับวัดธรรมกาย อาธิ เป็นประธานธุดงค์ธรรมชัย ซึ่งเป็นอีเวนต์ ทำให้โลกติฉิน เพราะไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย” นายไพบูลย์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าประเด็นสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะสร้างความตื่นรู้ของพุทธบริษัทซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ เพราะประเด็นของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สอดคล้องกับประเด็นที่ตนเสนอให้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในขณะนี้ อาทิ การจัดการทรัพย์สินของพระและวัด เป็นต้น
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าตนเป็นพวกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรับลูกจากนายกฯ ให้มาร่วมกับพระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการสถาปนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช นั้น ชี้แจงว่าตนไม่ได้รับลูกมา เราเพียงแต่มีแนวคิดคล้ายกัน และที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยติดต่อหรือมอบหมายให้ใครมาติดต่อประสานตนด้วย
“ผมไม่ใช่พวกนายกฯ ถ้าใช่ ทำไมเขาไม่แต่งตั้งผมเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นั่นเพราะผมไม่ใช่พวกเขา เพียงแต่เรามีหลักการเหมือนกัน ผมเข้าใจบทบาทนายกฯ เข้าใจบทบาทของฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนเรื่องนี้ และผมก็อยากให้คนอื่นเข้าใจบทบาทของผมด้วย ผมไม่ได้ออกมาตรวจสอบเรื่องนี้เรื่องแรก ผมออกมาตรวจสอบทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรื่อง 3G รถเมล์ NGV ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว” นายไพบูลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูดว่าการขัดแย้งหรือต่อต้านจนถึงขั้นนำไปสู่ความรุนแรงหรือเกิดฟ้องร้อง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งพระสังฆราชหรือตำแหน่งอื่นๆ ก็ไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ และยอมรับว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกที่รัฐบาลอาจไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ขอไม่บอกนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า โดยปกติมี 3 เหตุผลที่ไม่สามารถสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ 1.ป่วย 2.ประสงค์ที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และ3.มีคดีความจนไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งในส่วนของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ก็มีคดีความในเรื่องรถหรูอยู่