รอลุ้น! วัคซีนไข้เลือดออก ขึ้นทะเบียนไทยหลัง มิ.ย.

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน รศ.นพ.ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหนึ่งในผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก บรรยายให้ความรู้เรื่อง “ความหวังคนไทย…วัคซีนไข้เลือดออก : ฉีดหรือไม่ฉีด” ว่า โรคไข้เลือดออกที่รุนแรงมาจากการติดเชื้อของไวรัสเด็งกี่ ซึ่งความรุนแรงจะเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 17 จากภาวะช็อกจนเกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ และเสียชีวิตในที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนอกจากการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายแล้ว ยังมีการใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งทีมวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล ได้ร่วมกับ ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ (Sanofi Pasteur) ในการพัฒนาวัคซีนมาตั้งแต่ปี 2551 โดยวิจัยกับอาสาสมัครหลากหลายประเทศรวม 30,000 คน ขณะที่อาสาสมัครในไทยมีประมาณ 5,000 คน มีในกลุ่มเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่

“หลังจากผ่านการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว จะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์มี 3 ระยะ ซึ่งได้ทดลองเปรียบเทียบกับกลุ่มหลอก ที่ใช้วัคซีนตับอักเสบเอ และน้ำเกลือ พบว่า ผลข้างเคียงของการใช้วัคซีนไข้เลือดออกไม่แตกต่างจากวัคซีนหลอก โดยมีไข้ไม่ถึงร้อยละ 5 มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อยร้อยละ 20-30 นอกนั้นมีอาการปวด บวมแดงบ้าง ขณะที่ประสิทธิภาพการป้องกันโรคอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ประมาณร้อยละ 80.8 ในอายุ 9 ปีขึ้นไป แต่หากอายุต่ำกว่า 9 ปีจะป้องกันความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 56.1” รศ.นพ.ชูเกียรติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าขณะนี้ควรฉีดวัคซีนดังกล่าวใช่หรือไม่ รศ.นพ.ชูเกียรติ กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ และป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้มีเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และบราซิลที่จดทะเบียนใช้วัคซีนไข้เลือดออกแล้ว โดยใช้ป้องกันโรคได้ในอายุ 9 ปีถึง 45 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่มีการศึกษาทดลองว่ามีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรค ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำลังพิจารณาอยู่ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมนี้ ส่วนจะอยู่ในวัคซีนฟรีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่  ส่วนราคาวัคซีน ขณะนี้ทางบริษัทยังไม่เปิดเผย อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนต้องฉีด 3 เข็ม เว้นระยะ 6 เดือน ส่วนที่ว่าฉีดไปแล้วจะป้องกันโรคได้นานเท่าไรนั้น ยังไม่ระบุชัดเจน แต่ข้อมูลวิจัยที่ผ่านมาพบว่าขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 3-5 ปี 

   

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image