อย่ากะพริบตา’ศึกป้อมมหากาฬ’ ถอดรหัส’คำต่อคำ’จากวงเจรจา

ที่ตั้งของชุมชนป้อมมหากาฬที่นักผังเมืองมองว่าสะท้อนแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยุคต้นรัตนโกสินทร์

คงไม่จบง่ายๆ อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังสำหรับการถกประเด็นพิสูจน์คุณค่า หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามในกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานถึง 1 ส่วน 4 ศตวรรษ ซึ่งล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่ายมาแล้วหลายครั้งเพื่อหาทางออก ได้แก่ ฝ่ายกรุงเทพมหานคร ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ พร้อมด้วยฝ่ายทหาร

ต่างฝ่ายก็ขนกุนซือทั้งบุ๋นและบู๊มาต่อสู้เชิงความคิดอย่างเอาจริงเอาจัง โดยคาดหวังจะจบปัญหาในกรอบเวลาที่ตั้งไว้ แต่ดูทรงแล้วมีแววจะยืดเยื้อ บรรยากาศการประชุมอย่างน้อย 4 ครั้งที่ผ่านมานับแต่เริ่มต้นวางกรอบกฎเกณฑ์ประเมินค่า ก็มีข้อถกเถียงที่เหมือนจะจบแต่ไม่จบ ต้องทบไปในการพูดคุยครั้งหลัง หรือถูกรื้อรายงานการประชุมใหม่ทั้งที่ได้ข้อตกลงร่วมกันไปแล้ว

วงประชุมครั้งแรกๆ เริ่มถกเกณฑ์ประเมินคุณค่า เมื่อ 21 พ.ค.

ยังไม่นับประเด็นวิวาทะก่อเกิดการปะทะคารมในบางช่วงบางตอน ที่สร้างอุณหภูมิความร้อนในฤดูมรสุม

ต่อไปนี้คือบทสรุปจากการประชุมที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

Advertisement

การประชุมที่พลาดไม่ได้แม้เพียงเสี้ยววินาที

การประชุมที่สถานการณ์อาจพลิกผันในการกะพริบตาแค่ครั้งเดียว

‘บ้าน’หรือ’พื้นที่’วุ่นตั้งแต่นิยาม!

นับแต่ประชุมเพื่อกำหนดเกณฑ์การประเมินคุณค่า มีสิ่งสำคัญที่ต้องวางกรอบและสร้างความเข้าใจร่วมกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือประเด็น “พื้นที่” ซึ่ง รศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในการประเมินคุณค่าไม่ได้พิจารณาแค่ตัวบ้าน แต่ต้องรวมถึงความหมายของ “พื้นที่” ไม่เช่นนั้นจะวนเข้าสู่ความคิดเรื่อง “รื้อ หรือ ไม่รื้อ” เท่านั้น โดยมีกระบวนการหลักคือ 1.พิจารณาคุณค่าความสำคัญด้านต่างๆ ซึ่งกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ กำลังอยู่ในขั้นตอนนี้ 2.เลือกวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ทำลาย นอกนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ จากนั้นมาถึงข้อ 3 คือ จะบริหารจัดการอย่างไร

Advertisement

ประเด็นนี้ เรื่องพื้นที่และตัวบ้านเป็นที่ถกเถียงกันพอหอมปากหอมคอ ก่อนที่ประชุมจะยอมรับร่วมกันว่าให้พิจารณาพื้นที่ไม่ใช่ บ้านเป็นหลังๆ

ทว่า ในการประชุมครั้งต่อมา ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พ.ท.โชคดี อัมพรดิษฐ์ ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ขอให้ปรับแก้เนื่องจากไม่เห็นด้วย โดยในการประชุมครั้งที่ตกลงกันในเรื่องดังกล่าว ทั้งคู่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แม้จะส่งตัวแทนมาก็ตาม

ยุทธพันธุ์ ให้เหตุผลว่า ตนได้รับมอบหมายมาเจรจาคุณค่าของ “บ้าน” และการอนุรักษ์ ขอให้หัวข้อเรื่องตัวบ้านเป็นหัวใจในการดำเนินเรื่องนี้ ทุกฝ่ายต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าบ้านมีคุณค่าอย่างไร แต่ถ้าจะเจรจาว่า “พื้นที่” สำคัญอย่างไร และอะไรควรอยู่ในพื้นที่บ้างนั้น ไม่ใช่ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ขณะนี้สังคมต้องการคำอธิบาย เจ้านายก็ถามทุกวัน การพูดคุย “ไม่ใช่พูดเอามันส์” และยืนยันว่าไม่ใช่คนคิดแยกส่วน ก่อนปิดท้ายว่าตน “แฟร์” ที่สุดแล้วในทรรศนะตัวเอง

ครั้ง พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ลงพื้นที่ชุมชนเมื่อต้นเดือน พ.ค. ย้ำ “ใจเขาใจเรา” ยุทธพันธุ์ มีชัย เลขาผู้ว่าฯกทม. และธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชน ต้อนรับและนำเสนอข้อมูล

‘โอ้โลมปฏิโลม’ คุณค่า 5 ด้าน

มาถึงประเด็นคุณค่าที่ ยุทธพันธุ์ ระบุว่าให้ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ “โอ้โลมปฏิโลม” มาในรายละเอียดนั้น ประกอบด้วยคุณค่าด้านประวัติศาสตร์, ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม และผังเมือง, ด้านสังคม วิถีชีวิต, ด้านโบราณคดีและด้านวิชาการ ครูบาอาจารย์หลากสาขาวิชาก็ไปงัดข้อมูลหลักฐานแบบจัดเต็ม

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากรั้วศิลปากร เจ้าของงานวิจัยเรื่องเรือนไม้โบราณที่ป้อมมหากาฬ ส่งเอกสารมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเป็นชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ และการเป็นที่ตั้งของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของกรุงเทพฯ และพัฒนาการของเมืองหลังยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

ด้าน ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมือง และนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า กลุ่มอาคารในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นมรดกสถาปัตยกรรมไม้ที่แบ่งได้ 3 ยุค คือ ยุคก่อน ร.5 ซึ่งเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง, ยุค ร.5-ร.7 ซึ่งได้รับอิทธิพลตะวันตก เป็นเรือนปั้นหยา, ยุค ร.8-ร.9 ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรม ครึ่งไม้ ครึ่งปูน มีส่วนประกอบของเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นยุคใดก็มีคุณค่าทั้งโดย ที่ตั้ง อายุ ความครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งป้อม คลอง ชุมชน ต้นไม้ ลำคลอง อีกทั้งมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมากว่า 100 ปี นอกจากนี้ยังพยายามบำรุงรักษาและซ่อมแซมโดยคำนึงถึงวัสดุดั้งเดิม ทำให้ยังคงไว้ซึ่งความชุมชนบ้านไม้โบราณ “ชุมชนอื่นรักษาไว้ไม่ได้เท่าที่นี่”

‘บ้านหลอมทอง’ หนึ่งในเรือนไม้ 2 หลังที่ กทม.เห็นพ้องอนุรักษ์
แผนผังแสดงบ้านใน 3 ยุค

ภารนี สวีสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ระบุว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีคุณค่าในด้านแบบแผนการตั้งถิ่นฐานชุมชนดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับการวางผังเมืองโบราณซึ่งแบ่งกลุ่มพื้นที่การใช้งานเป็นส่วนต่างๆ เช่น วัด-วัง และบ้านเรือน อีกทั้งเป็นหลักฐานยุทธศาสตร์การป้องกันพระนคร

ส่วน ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการฝ่ายอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ เจ้าของวาทะ “ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเห็นนักวิชาการมารวมกันมากเท่านี้” ยืนยันว่าที่นี่คือชุมชนชานพระนครแห่งเดียวที่เหลืออยู่ และยังมีชีวิต มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความสัมพันธ์กับชุมชนเก่าแก่โดยรอบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านยังสามารถเล่าประวัติศาสตร์ของตนเองได้อีกด้วย

มาถึง ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เดินเท้ามาเป็นกองหนุนให้ป้อมมหากาฬ โดยกล่าวว่า ชุมชนดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณคดีที่ยังมีชีวิต เป็นหลักฐานในการตั้งถิ่นฐานที่สืบเนื่องจากชุมชนโบราณไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี หลงเหลือหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมชุมชนในพื้นเดิมหลายชั่วอายุคน

อุปกรณ์หลอมทอง สะท้อนชีวิตผู้คนในอดีต
‘พิธีสมาพ่อปู่’ ซึ่งนักวิชาการชี้ว่าเป็นคุณค่าด้านวิถีชีวิต

ปมอนุรักษ์ที่ (ยัง) ถกไม่จบ

สุดท้าย มาถึงเรื่องสำคัญของทุกฝ่าย อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เสนอให้อนุรักษ์ไว้ 24 หลัง แต่ กทม.รื้อเกินไป 2 หลัง จึงคงเหลือ 22 หลัง พร้อมตั้งคำถามว่า จะมีการพัฒนาโซนนิ่งหรือไม่ เช่น การเชื่อมต่อกับภูเขาทอง วัดราชนัดดาฯ ถนนมหาไชย ซึ่งเป็นบริบทโดยรอบ ส่วนประเด็นคนในชุมชน “ชาวบ้านต้องยอมรับว่าต้องอยู่ในฐานะผู้เช่า ต้องยอมรับว่าเป็นบ้านอนุรักษ์ ต่อเติมปรับปรุงไม่ได้”

ฝ่าย กทม.ย้อนเล่าถึงการได้มาซึ่งที่ดิน ซึ่งมี 3 ส่วน ได้แก่ 1.กทม.เจรจาขอซื้อในช่วง พ.ศ.2503 สมัยยังเป็นเทศบาลพระนครตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรียุคนั้น คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 10 แปลง 2.การเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืน ปี 2535 จำนวน 10 แปลง 3.กระทรวงการคลังมอบให้ 1 แปลง รวมทั้งสิ้น 21 แปลง สำหรับบ้านที่เหลืออยู่ในขณะนี้จำนวน 33 หลัง จะถูกตัดออกจากการพิจารณา 11 หลัง เนื่องจากถือว่าไม่อยู่ในเกณฑ์ประเมินคุณค่า 5 ด้าน สำหรับบ้านที่เห็นพ้องให้เก็บรักษาไว้เพื่อการอนุรักษ์อย่างแน่นอนมี 2 หลัง คือ บ้านเลขที่ 99 คือเรือนไม้กลางชุมชน และบ้านเลขที่ 97 คือบ้านหลอมทอง โดยขอ “แขวน” คือยังไม่ตัดสินใจ 4 หลัง โดยจะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากติดปัญหาบางอย่าง เช่น เรื่องกรรมสิทธิ์ คงเหลือ 16 หลังสำหรับพิจารณาต่อในวันรุ่งขึ้น ทว่า เมื่อวันรุ่งขึ้นมาถึงก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพิ่มเติม เนื่องจากใช้เวลาถกเถียงประเด็นอื่นๆ เช่น ชุมชนเสนอให้นำบ้าน 11 หลังกลับเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย รวมถึงมีผู้เสนอประเด็นกฎหมายเรื่องสิทธิการอยู่อาศัยซึ่ง กทม.มองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะมาคุยกันในที่ประชุมนี้ ก่อเกิดดราม่าชามใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

สุดท้าย นัดประชุมอีกรอบ 9 มิ.ย.นี้ จากนั้นคาดว่าจะได้ฤกษ์ลงพื้นที่ชุมชนต่อไป

สภาพหลังถูกรื้อถอนของบ้านเลขที่ 107 ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนไม้ที่สมาคมสถาปนิกสยามเสนอให้อนุรักษ์

สมรภูมิข่าว น้ำหนักคำ ความเพลี่ยงพล้ำที่ไม่ยอมเสี่ยง

อีกหนึ่งประเด็นเล็กๆ ท่ามกลางการเจรา คือเรื่องของการให้ข่าวซึ่ง ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากกลุ่ม “มหากาฬโมเดล” กล่าวในที่ประชุมครั้งแรกๆ ว่า ขอให้ กทม.หยุดการสื่อสารกับสังคมในสิ่งที่ยังไม่ได้เป็นข้อตกลงของ 3 ฝ่าย คือ กทม. ทหารและชุมชน เนื่องจากยังอยูในระหว่างการเจรจาระบุคุณค่า สืบเนื่องจากการที่ผู้บริหาร กทม.ให้ข่าวว่าชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นบ้านอนุรักษ์ก็ตาม

ไม่บ่อยที่จะได้ยินคำขอโทษจาก กทม.แต่ก็เกิดขึ้นเมื่อ ณัฐนันท์ กัลยศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของ กทม.ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ หากที่ผ่านมามีการให้ข่าวที่สร้างความไม่สบายใจให้แก่ชุมชน

นอกจากนี้ กทม.ยังมีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้คำที่อาจสื่อความหมายบางประการ โดยเน้นย้ำเรื่องการขยายความให้ชัดเจน อย่างคำว่า “เห็นชอบ” (ให้นำข้อเสนอจากนักวิชาการเรื่องการระบุคุณค่าของพื้นที่ป้อมฯ เพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณา)

นี่คือข่าวคราวของการศึก ณ ป้อมมหากาฬ ที่จะกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ การต่อสู้อันยาวนานเข้มข้นไม่แพ้สงครามครั้งใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image