“คนหัวล้าน” ลุ้นเซรั่มน้ำมันรำข้าว ช่วย “ผมดก”

เป็นอาการที่ไม่ถึงกับทำให้ใครตาย แต่ก็ไม่มีใครปรารถนาที่จะประสบพบเจอ นั่นคือ อาการ “ศีรษะล้าน” ซึ่งคนทั่วโลกต่างประสบปัญหานี้กันจำนวนมาก

จากสถิติของสถาบันเส้นผมแห่งหนึ่ง ระบุว่า เส้นผมบนหนังศีรษะของคนเราปกติมี ประมาณ 90,000-140,000 เส้น ในผู้หญิงจะมีมากกว่าผู้ชาย คนที่มีผมสีเข้มจำนวนเส้นผมจะน้อยกว่า โดยผมสีแดง มีเฉลี่ย 90,000 เส้น ผมสีดำ มีเฉลี่ย 105,000 เส้น และผมสีบลอนด์ มีเฉลี่ย 140,000 เส้น

ขณะที่คนเราจะมีผมและขนรวมกันทั้งร่างกายประมาณ 5 ล้านเส้น ตำแหน่งที่ไม่มีขนหรือรูขุมขนเลยคือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ริมฝีปาก โดยที่ 1 รากผมจะมีเส้นผมเฉลี่ย 2-4 เส้น ทั้งนี้ รากผมบนหนังศีรษะมีทั้งหมดประมาณ 85,000-130,000 ราก

โดยปกติเส้นผมมีวงจรชีวิตประมาณ 2-6 ปี โดย 90% ของเส้นผมบนศีรษะจะอยู่ในระยะ ของการเจริญเติบโต และอีก 10% จะอยู่ในระยะพัก ซึ่งจะไม่เจริญอีก ต่อจากนั้นประมาณ 2-3 เดือน ก็จะหลุดร่วงไป โดยผมจะร่วงประมาณ 50-100 เส้นต่อวัน ถ้าผมร่วงมากกว่า 100 เส้น จะถือว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติ ในผู้ชายหลุดร่วงได้ไม่เกิน 60 เส้น/วัน ในผู้หญิงหลุดร่วงได้ไม่เกิน 100 เส้น/วัน ผมจะขึ้นใหม่หลังจากร่วงไปภายใน 6 เดือน และผมจะยาวในอัตราประมาณ 1/2 นิ้วต่อเดือน

Advertisement

โดยที่เส้นผมของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดียาวประมาณ 0.35 มิลลิเมตรต่อวัน ผู้หญิงจะมีผมยาวเร็วกว่าผู้ชายประมาณ 0.02 มิลลิเมตรต่อวัน ส่วนเด็กมีผมยาวเร็วกว่าผู้ใหญ่ โดยจะมีผมยาวประมาณ 0.41 มิลลิเมตรต่อวัน และจะลดลงเหลือเพียง 0.32 มิลลิเมตรต่อวัน ในวัยสูงอายุ

แต่ปัญหาที่หลายคนประสบคือ 20% ของผู้ชายอายุ 20 ปี มีปัญหาศีรษะล้าน ขณะที่ 30% ของผู้ชายอายุ 30 ปี มีปัญหาศีรษะล้าน และ 40-50% ของผู้ชายอายุ 40-50 ปี มีปัญหาศีรษะล้าน นอกจากนี้ 20% ของผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี มีปัญหาผมบาง ถือเป็นปัญหากวนใจ ที่ไม่มีใครอยากสัมผัส

แต่ผู้ประสบปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน เริ่มมีความหวัง ด้วยเมื่อไม่นานมานี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ได้ประกาศศักดาของสมุนไพรไทยอีกครั้ง โดยการสกัดน้ำมันจาก “รำข้าว” เพื่อแก้ปัญหาผมร่วง ศีรษะล้าน

เภสัชกรหญิง (ภญ.) ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แจกแจงให้ฟังว่า หลายคนยังไม่รู้ว่า “รำข้าว” นั้น สามารถแก้ปัญหาศรีษะล้าน และผมงอกได้ มีการจัดทำเป็นตำรับยา “รำข้าว” ทีเดียว ซึ่งประกอบด้วย “รำข้าว” 10 กรัม แป้งข้าวเจ้า 5 กรัม น้ำมันงา 10 ซีซี ขี้ชีโคก 10 กรัม นำมาพอกศีรษะ พันผ้าทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วล้างออก

ปัจจุบัน โรงพยาบาลอภัยภูเบศรยังร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ทำเป็นครีมน้ำมันรำข้าวด้วย ภญ.ผกากรอง อธิบายต่อว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมกับศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยี วิจัยเรื่องเซรั่มรำข้าว ซึ่งพบว่าน้ำมันรำข้าวช่วยให้ผมงอกใหม่ ตรงกับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทางอภัยภูเบศรได้รับจากหมอยาพื้นบ้านอีสาน คือ “พ่อประภาศ ใจทัศน์” หมอยาไทยว่าให้นำรำข้าวมาพอกหัวแก้หัวล้าน โดยสูตร มี 4 อย่าง รำข้าว น้ำมันงาด่อน (งาขี้ม้อน) ยางชีโคก แป้งบาหยัน แต่ทว่า ปัจจุบันส่วนผสมบางอย่างอาจหายาก จึงมีอีกสูตรสำหรับประชาชน ประกอบด้วย รำข้าว 10 กรัม แป้งข้าวเจ้า 5 กรัม น้ำมันงา 10 ซีซี ขี้ชีโคก 10 กรัม นำมาพอกศีรษะ พันผ้าทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วล้างออก มีหลายคนทำแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันรำข้าวมีสารสกัดออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น วิตามินอี โทโคไตรอีนอล แกมมาออไรซานอล เป็นต้น ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงพัฒนาเซรัมน้ำมันรำข้าวที่มีแกมมาออไรซานอล 2.5% เพื่อใช้เป็นสูตรบำรุงหนังศีรษะและลดอาการผมร่วง

“แต่ด้วยเพราะน้ำมันรำข้าวมีความมัน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ จึงร่วมกับศูนย์นาโนเทค เพื่อนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้น้ำมันรำข้าวสามารถดูดซึมสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น โดยพัฒนาเป็นสูตรตำรับน้ำมันรำข้าวให้อยู่ในรูปแบบอนุภาคนาโน เป็นเซรั่มที่มีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าว น้ำมันงา และสารสกัดจากใบบัวบก ซึ่งมีข้อมูลว่าช่วยบำรุงหนังศีรษะได้” ภญ.ผกากรองระบุ

จากข้อมูลการทดสอบคุณสมบัติในการกระตุ้นรากผมของเซรั่มน้ำมันรำข้าว พบว่า เมื่อนำเซลล์รากผมไปเลี้ยงในหลอดทดลอง พบมีการเจริญเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยกระตุ้นรากผมได้ดีขึ้น อีกทั้งยังใช้เซรั่มที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนน้อยกว่า เมื่อใช้เซรั่มที่ไม่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโน

นอกจากนี้ ในการทดสอบความปลอดภัย โดยใช้แผ่นแปะที่มีส่วนผสมของเซรั่มน้ำมันรำข้าวลงบนหลังอาสาสมัคร 200 คน พบว่า ไม่มีใครมีผื่นแดง ทั้งนี้ ภญ.ผกากรอง ยังบอกอีกว่า จากผลสำเร็จของการพัฒนาดังกล่าว แม้ผลิตภัณฑ์เซรั่มจะได้รับการตอบรับดี แต่ก็พบว่าเพื่อให้ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องมีโทนิคในการเสริมสร้างร่วมกัน ซึ่งทางอภัยภูเบศรเตรียมจะพัฒนาต่อยอด โดยใช้หญ้าดอกขาว ในการวิจัยเรื่องนี้ต่อไป

นับเป็นข่าวดีของคนศีรษะล้าน..รอด้วยความหวัง อย่างใจจด ใจจ่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image