ส่อง ‘เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์’ ในมุมมอง ‘รมต.-อาจารย์’

หมายเหตุ – ความเห็นของฝ่ายบริหารและนักวิชาการที่มีต่อกรณีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ ทิปรีพอร์ต (TIP Report) ประจำปี 2560 โดยยังคงจัดระดับประเทศไทยอยู่ในเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ (tier 2 watch list) เช่นเดียวกับปี 2559


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ทิป รีพอร์ต ประจำปี 2560 เมื่อคืนที่ 27 มิถุนายน 2560 รายงานดังกล่าวมีการจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ กว่า 180 ประเทศ โดยยังคงจัดระดับประเทศไทยอยู่ใน เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ หรือระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ในปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีความพยายามดำเนินการเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิดประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัยการค้ามนุษย์

Advertisement

จากการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ ในปี 2559 มีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ 333 คดี ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ 54 ราย และยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดได้จำนวนมากที่สุด 784 ล้านบาท ในด้านการคุ้มครองมีการพัฒนาระบบการคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ช่วยเหลือผู้เสียหายทั้งคนไทย และคนต่างชาติ รวมจำนวนทั้งสิ้น 561 คน โดยมีผู้เสียหายทำงานทั้งในและนอกสถานคุ้มครอง จำนวน 196 คน (จากเดิมปี 2558 จำนวน 47 คน) ซึ่งผู้เสียหายได้รับสิทธิการพำนักอยู่ชั่วคราวและทำงานในประเทศไทย 2 ปี หลังสิ้นสุดคดี

ด้านการป้องกันมีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว จัดระเบียบเรือประมง สถานบริการ และจัดระเบียบขอทาน เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์

ประเมินรายงานเบื้องต้นมีประเด็นที่สหรัฐชื่นชมสิ่งที่เราทำมาได้ดี เช่น มีการยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดกว่า 700 ล้านบาท การเพิ่มล่าม เพิ่มพนักงานสอบสวน การคัดแยกผู้เสียหาย เพียงแต่มาตรฐานบางอย่างต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น แต่ก็เป็นทิศทางและสัญญาณที่ดีในการทำงาน

Advertisement

ทั้งนี้ สหรัฐมีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทยใน 11 ข้อ ซึ่ง พม.คงนำมาพิจารณาและดำเนินการ เท่าที่ดู 11 ข้อก็เป็นเรื่องเดิมๆ เหมือนปีที่ผ่านมา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พม.เป็นเรื่องการคัดแยกผู้เสียหายที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา พม.ก็ดำเนินการตามหลักวิชาชีพอย่างดีตลอดเวลา และโดยภาพรวมเราก็ได้ทำเต็มที่และดีขึ้น จนทำให้ขยับจากเทียร์ 3 ในปี 2558 มาเป็นเทียร์ 2 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้าน

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ต้องมีมาตรการในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่องต่อไป

ส่วนการจัดระดับของสหรัฐคิดว่ามีประเด็นการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น อย่าไปคิดเช่นนั้น ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นดำเนินการแก้ไขอย่างเต็มที่อยู่แล้วโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม และคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย 11 ข้อ จากรายงานค้ามนุษย์ ประจำปี 2560 มีดังนี้ 1.ให้ความสำคัญกับการสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ตัดสินและลงโทษเจ้าหน้าที่ดังกล่าวหากพบการกระทำผิด และพิพากษาลงโทษอย่างเด็ดขาด 2.เพิ่มความพยายามในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งกลุ่มผู้อพยพ ลูกเรือประมง กลุ่มบุคคลไร้รัฐ กลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้ลี้ภัย

3.ดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง 4.เพิ่มการอบรมให้แก่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และชุดปฏิบัติงานเบื้องต้นซึ่งไม่ได้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และตระหนักถึงรูปแบบของการบังคับใช้แรงงานที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางร่างกาย 5.เพิ่มการฝึกอบรมและทรัพยากรสำหรับทีมสหวิชาชีพและพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจเรือเพื่อนำไปสู่การระบุตัวผู้เสียหายฯ และการสืบสวนสอบสวน

6.เพิ่มแรงจูงใจสำหรับผู้เสียหายฯ ที่ให้ความร่วมมือทางด้านกฎหมายการสืบสวน และการดำเนินคดีค้ามนุษย์ รวมทั้งการให้ทางเลือกแก่ผู้เสียหายชาวต่างชาติในการส่งไปยังประเทศที่ผู้เสียหายเหล่านั้นอาจจะต้องเผชิญกับการถูกตามแก้แค้นหรือความยากลำบาก และการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ 7.ใช้แนวทางปฏิบัติและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการคัดแยกและสัมภาษณ์ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างเคร่งครัด 8.กำกับดูแล และตรวจสอบแนวทางการจัดหาแรงงานต่างด้าว และข้อบ่งชี้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์

9.ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคประชาสังคมให้เพิ่มมากขึ้น ในด้านการสืบสวนและการรายงานอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 10.เพิ่มความพยายามอย่างต่อเนื่องในการสร้างความตระหนักต่อปัญหาการค้ามนุษย์ให้กับนายจ้างและลูกค้าในธุรกิจให้บริการทางเพศ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการทางเพศ และ 11.ปรับปรุงสิทธิและสถานะทางกฎหมายของแรงงานต่างด้าว และนโยบายด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อลดความเสี่ยงในการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์


ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้องเข้าใจว่าวิธีคิดอเมริกันนั้น ความพยายามมีความหมายเท่ากับศูนย์ ถ้าไม่มีผลลัพธ์เกิดขึ้น อเมริกาไม่ได้มองในแง่ความพยายามแต่มองผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเขายังเชื่อว่าผลลัพธ์ไม่ดีขึ้น ความพยายามนั้นก็ไร้ความหมาย พยายามหรือไม่ก็ไม่มีค่าอะไร สำหรับคนไทยคิดว่าความพยายามน่าจะได้รับเครดิต อย่างน้อยแม้ไม่ได้อะไรเกิดขึ้นแต่เมื่อพยายามแล้วน่าจะได้เครดิต แต่นั่นคือวิธีคิดแบบไทย

วิธีคิดคนอเมริกันมองว่าความพยายามนั้นไม่มีความหมายถ้าไม่ได้นำมาซึ่งความสัมฤทธิผล พูดง่ายๆ คือเขาจะดูจากสถิติว่าการค้ามนุษย์ลดน้อยแค่ไหนเพียงไร

มีอะไรดีขึ้นไหม ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ถ้าตรงนี้มีแล้วเขาไม่ขยับขึ้นเราน่าจะสามารถประท้วงไปได้ว่าเขาตัดสินโดยไม่ได้รับความยุติธรรม แต่ผมไม่มีข้อมูลว่านอกจากความพยายามแล้วเรามีผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นตัวตนวัดได้ไหม เป็นสถิติเปรียบเทียบที่นำมาอ้างอิงได้ ถ้าเรามีก็จะตอบโต้ได้ว่าเขาไม่ยุติธรรม แต่ถ้าไม่มีอย่าพูดไปดีกว่า ส่วนความพยายามนั้นเป็นเรื่องภายใน

แม้รัฐบาลแสดงให้เห็นความพยายามและการกวดขันในกรณีต่างๆ แต่คำว่ากวดขันนั้นได้ผลไหม มีข้อมูลแสดงการเปรียบเทียบเชิงสถิติไหมว่าปีที่ผ่านมาลดน้อยลง

ถ้ายังไม่มีข้อมูลชัดเจนให้เขาเปรียบเทียบได้ เขาก็ยังไม่พิจารณาปรับอันดับ


ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การขยับจากเทียร์ 3 มาอยู่เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์เป็นเพราะว่าเรามีปัญหา แต่เรามีกลไกแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทางภาครัฐโดยมีตัวบทกฎหมายขึ้นมา เขาจึงปรับให้เราอยู่ในเทียร์ 2 แต่การที่เราไม่ได้รับการขยับให้ดีขึ้นจากวอตช์ลิสต์ เป็นเพราะตัวกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ไม่ได้ถูกนำมาใช้บังคับให้เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็จะพ้องกับสัญญาณทางการเมืองต่างๆ ที่เป็นภาพสะท้อนจากการมีตัวบทกฎหมาย แต่ไม่เกิดการบังคับใช้ขึ้น ขณะเดียวกันพวกประเทศคู่ค้าที่เขามาออดิท ตรวจสอบระบบการใช้แรงงานของบริษัทไทย ส่วนมากพบในทิศทางเดียวกัน นั่นคือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหรือช่องทางที่ไม่สามารถใช้ได้จริง นี่เป็นหลักการว่าทำไมเราถึงไม่ได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น

ขณะที่ตัวแทนภาครัฐยืนยันว่าประเทศไทยมีการแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลานั้น สามารถพูดได้หลายทาง แต่ผมขอพูดถึงหลักการการจัดเทียร์ที่ปรากฏชัดเจนมาก คือการที่แม้เราจะมีความพยายาม ซึ่งรูปธรรมของความพยายาม คือการมีตัวบทกฎหมาย มีระเบียบ มีช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ขึ้นมา แต่ถ้าตัวระเบียบกฎหมายต่างๆ ไม่สามารถทำให้อัตราการค้ามนุษย์ หรือการใช้แรงงานบังคับสามารถใช้ได้จริง ตัวนี้ก็จะหยุดให้เราอยู่ในเทียร์ 2 เหมือนเดิม คือไม่สามารถพ้นจากตัวการเฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า หากในระยะยาวตัวช่องทางเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่สามารถทำให้สถานการณ์หรือตัวเลขดีขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าเราอาจตกไปอยู่ในเทียร์ 3 อีก ส่วนนี้จะเห็นภาพได้ชัดเจนในเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยมีการเกี่ยวพ้องกันว่าตัวกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถแก้ไขหรือสามารถทำให้ปัญหาอื่นๆ คลี่คลายได้

การมีเทียร์ 2 ขึ้นมาก็เหมือนเป็นรางวัลให้กับเด็กสอบตก แต่เขาเขียนรายงานส่งครูว่า จะมีแนวทางการพัฒนาตัวเองอย่างไร โดยบอกว่าจะตั้งใจอ่านหนังสือ เข้าเรียนตรงเวลา อันนี้ทำให้ได้รับตราปั๊มจากคนที่เขารับรอง ได้เลื่อนลำดับขึ้นมาอยู่เทียร์ 2 แต่ว่าถ้ามีแผนพัฒนาตัวเอง แต่ตัวรีพอร์ตยังคงตัวเลขเดิม อันนี้มีแนวโน้มทำให้ตกไปอยู่ในเทียร์ 3 อีก ถามว่าเรื่องง่ายๆ เลยที่จะขยับจากเทียร์ 2 ขึ้นมาสู่เทียร์ 1 ได้ คือเราต้องทำให้ตัวเลขการค้ามนุษย์ต่างๆ ลดลง

ผมขอพูดในภาพรวมว่า ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับในบ้านเราเกิดขึ้นกับกลุ่มทุน ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลาง รวมถึงขนาดเล็ก ถ้าระบบกฎหมายทั่วไปไม่สามารถบังคับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ ทุกวันนี้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ใช้วิธีเลี่ยงการถูกออดิทจากบริษัทคู่ค้า โดยการจ้างบริษัทเอาต์ซอร์สเพื่อจัดหาแรงงาน ทำให้ไม่ต้องถูกตรวจสอบได้โดยง่าย เมื่อถึงจุดที่ถูกตรวจสอบแล้วพบว่าใช้เอาต์ซอร์สทำการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานบังคับ ทำให้ภาพที่พยายามสร้างมาล้มเหลว ภาครัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจน โดยเป็นมาตรการในการลงโทษกับบริษัทที่ใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ที่ไม่ถูกต้อง

แต่ที่เราทราบกันคือผลประโยชน์บางอย่างใหญ่โตมาก ยิ่งในช่วงนี้เราจะเห็นตัวบทกฎหมายทั่วไป อย่าว่าแต่การบังคับใช้เรื่องการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับเลย แม้แต่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ บรรยากาศภาพรวมจึงเป็นแบบนี้ ทำให้การที่เขามามอนิเตอร์เราชัดเจนมากขึ้น ต้องจับตาเฝ้าระวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image