เสนอเพิ่มด่านตรวจจับเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ – เพิ่มโทษกฎหมายไม่รอลงอาญา

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดเวทีถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับของผู้ก่อเหตุและผู้ได้รับผลกระทบ ในเวทีเสวนาหัวข้อ “โศกนาฏกรรมดื่มแล้วขับ ถอดบทเรียนสองฝ่าย(ผู้ก่อเหตุ–ผู้สูญเสีย)…ปัญหาและทางออก” ทั้งนี้ มีการเดินรณรงค์และแจกสื่อประชาสัมพันธ์ ต่อต้านพฤติกรรมดื่มแล้วขับบริเวณป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ฯ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)โดยการสนับสนุนของ สสส. เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ข้อมูลใบมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือประมาณ 15,000 รายต่อปี ในส่วนนี้มีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้องสูงถึง 1 ใน 4 หรือ 20-25% ขณะที่ยอดการเสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ย 40 รายต่อวัน 1 ใน 4 มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่จะเป็นเหยื่อถูกคนเมาขับรถชน ทั้งยังมีผู้พิการเป็นเหยื่อจากคนเมาแล้วขับอีกไม่น้อย เป็นความสูญเสียของครอบครัวอย่างยิ่ง นอกจากนี้ข่าวที่ได้เก็บรวบรวมในรอบ 3 ปี พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ชีพต้องกลายเป็นเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 49 ราย ขณะที่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สาเหตุเมาแล้วขับเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 34% เป็น 43% เสียชีวิต 32% จากเดิม 17% ที่น่าห่วงคือมีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บเข้ารับการรักษา 1,674 ราย หรือวันละ 239 ราย ชี้ให้เห็นว่า แอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยร่วมทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี

นายแพทย์ ธนะพงศ์

นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ยังมีคนเมาแล้วขับ มาจากมาตรการตรวจจับยังมีข้อจำกัดทั้งการตั้งด่านและอุปกรณ์ตรวจวัดแอลกอฮอล์น้อย ขณะที่ผู้ขับขี่อาศัยเครื่องมือสื่อสารส่งข้อมูลรับรู้การตั้งด่านทำให้หลีกเลี่ยงได้ รวมถึงการดำเนินคดียังมีจุดอ่อนที่ระบุโทษเป็นเรื่องความประมาททำให้โทษจำคุกแค่รอลงอาญา และกรณีตรวจจับพบกระทำผิดอีกก็ไม่มีการนำความผิดเก่ามารวมเป็นการกระทำผิดซ้ำอีกทั้งทัศนคติของคนไทย ซึ่งพบถึง 1 ใน 5 ของคนขับรถบนท้องถนนมองการดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ จึงอยากเสนอมาตรการการตรวจจับให้มีการตั้งด่านพร้อมมีอุปกรณ์ตรวจวัดเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงเป็นการขับขี่ที่อันตรายไม่ใช่ความประมาทโดยไม่ต้องรอลงอาญา และสร้างความตระหนักทางสังคมให้มากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image