ย้อนรอย หอชมเมืองกทม. ยุคไทยแลนด์4.0

พลันที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณ 4,621.19 ล้านบาท ดำเนินโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นต้นแบบในการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้ นำมาใช้ดำเนินโครงการจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทยและเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุค

สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครนั้น พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอให้ ครม.พิจารณายกเว้นให้โครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 4-2-34 ไร่ เพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนด ในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 พ.ศ.2559 ข้อ 24 จึงได้จัดจ้างที่ปรึกษาในการวิเคราะห์โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุดังกล่าวเพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งกรมธนารักษ์อนุญาตให้มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้รับสิทธิการเช่าและพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว กำหนดอายุสัญญาเช่าไม่เกิน 30 ปี

พ.อ.อธิสิทธิ์อธิบายต่อว่า หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้นำผลการศึกษาและผลการวิเคราะห์โครงการดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจกรรมของรัฐ และคณะกรรมการนโยบายฯได้มีมติให้โครงการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ และให้กรมธนารักษ์รับข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายฯ ไปดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ศึกษาผลกระทบเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

Advertisement

2.ให้พิจารณาชื่อโครงการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และควรมีคณะทำงานเพื่อพิจารณากำกับดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

3.ให้พิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน และไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงินและความเสี่ยงแก่ภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าเข้าชมโครงการให้มีความเหมาะสมสำหรับการเข้าถึงของประชาชน

ต่อมากรมธนารักษ์แจ้งว่า หากดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อดำเนินโครงการ โดยวิธีเปิดประมูลเป็นการทั่วไปจะทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการ และอาจไม่มีเอกชนรายใดสนใจดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีรูปแบบการดำเนินการเชิงสังคม จึงได้เสนอเรื่องการคัดเอกชนดำเนินโครงการโดยไม่ต้องประมูลต่อคณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2560 วันที่ 29 มีนาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายได้มีมติเห็นชอบให้ กค.นำเสนอ ครม. ยกเว้นให้โครงการสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลตามข้อ 24 ของประกาศคณะกรรมการ นโยบายฯ โดยมีเงื่อนไขให้เอกชนต้องจัดทำแผนบริหารการสัญจร การรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนในบริเวณดังกล่าว เสนอกรมธนารักษ์และ กค.พิจารณา

Advertisement

รวมทั้งให้นำรายได้ที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายไปดำเนินการเชิงสังคม โดยมิให้นำมาแบ่งปันกัน

กค.จึงขอให้นำเสนอ ครม.ตามมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยโครงการมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,422.96 ล้านบาท มูลค่าที่ดินราชพัสดุ 198.51 ล้านบาท รวมมูลค่าประมาณ 4,621 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดย ”มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร”Ž ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้ประเมินงบลงทุนไว้ที่ 4,422.96 ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำ 2,100 ล้านบาท ซึ่งประมาณการรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 1,054 ล้านบาท/ปี ประมาณการราคาตั๋วที่ 750 บาท/คน คนไทยลด 50% มีค่าใช้จ่ายปีละ 892 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 38 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปบริจาคองค์กรสาธารณกุศลตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ เพื่อร่วมมือกับโครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อรวบรวมเรื่องราวความดีที่จัดแสดงไว้ในหอชมเมือง และเพื่อส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมของชาติ ยึดมั่นในการเชิดชูสถาบันหลัก อันประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

อีกทั้งโครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบในการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ เพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของยุค ที่จะเป็น New Global Destination เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูง ด้วยหลักการ Zero Dischange เป็นอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูง ทั้งทางด้านการออกแบบและวิศวกรรม และการบริหารจัดการที่ทันสมัยตามนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0Ž และเป็นการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตประชาชน

ขณะที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงโครงการหอชมเมืองกรุงเทพฯที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า โครงการมีความโปร่งใส โดยเป็นการเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีมูลค่าของโครงประมาณ 4.6 พันล้านบาท ถือเป็นโครงการที่ต้องผ่านความเห็นคณะกรรมการเอกชนร่วมลงทุน หรือบอร์ดพีพีพี เพราะมีการใช้ที่ดินของรัฐ และมีโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ต้องเสนอเข้าบอร์ดพีพีพี แต่เนื่องจากโครงการไม่ถึง 5 พันล้านบาท เป็นอำนาจของหน่วยงานต้นเรื่อง ซึ่งก็คือกรมธนารักษ์ที่สามารถคัดเลือกเอกชนมาดำเนินงานได้ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สคร. อัยการสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิ เอกชนร่วมเป็นกรรมการ โดยโครงการนี้เป็นโครงการเช่าที่ดิน เอกชนลงทุนเองทั้งหมด รัฐไม่ได้
ลงทุนเอง โดยรัฐหรือกรมธนารักษ์ได้เพียงค่าเช่า

และนี่จะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 !?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image