พบสันดอนโผล่เขื่อนน้ำอูน รองผวจ.สกลนคร ยันยังไม่วิกฤต วอนปชช.ประหยัดน้ำ

DCIM100MEDIADJI_0013.JPG

วันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.สกลนคร โดยทำการบินสำรวจ ปริมาณน้ำในเขื่อนน้ำอูน ต.แร่ อ.พังโคน ซึ่งเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 170,000 ไร่  ปัจจุบันระดับน้ำของเขื่อนน้ำอูนอยู่ที่ ร้อยละ 31 หรือ 162 ลบ.ม. ของความจุกักเก็บ 520 ลบ.ม. พบว่าเริ่มมีสันดอนโผล่ ทอดยาวออกไปจากตัวเขื่อน หากเทียบในห้วงเวลาเดียวกัน มีน้ำน้อยกว่าปี 58 ร้อยละ 19  ขณะนี้ทางเขื่อนน้ำอูนได้งดจ่ายน้ำแล้ว เนื่องจากต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในฤดูนาปีเดือนพฤษภาคม ส่วนภาพรวมของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง หนองหาร และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวม 115 แห่ง มีปริมาณน้ำ 481 ลบ.ม.หรือร้อยละ 41 ซึ่งถือว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรบ้างแล้ว เช่น ข้าวนาปรังที่ปลูกนอกเหนือพื้นที่ชลประทาน เริ่มยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ เสียหายกว่าพันไร่ และกระทบต่อปศุสัตว์ เกษตรกรต้องนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงในแหล่งอาหารที่ไกลขึ้นจากเดิมหลายกิโลเมตร

DCIM100MEDIADJI_0011.JPG
DCIM100MEDIADJI_0011.JPG

นายคุมพล บรรเทาทุกข์ รอง ผวจ.สกลนคร ยืนยันว่าขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากจังหวัดมีการบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้ง อปท.ชลประทาน ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร มทบ.29 ดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง ทำการขุดลอกลำห้วย และพื้นที่กักเก็บน้ำ ผันน้ำจากพื้นที่ห่างไกลเข้าสู่ชมุชนอย่างต่อเนื่อง โดยนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผวจ.สกลนคร ได้กำชับและสั่งการให้ทุกหน่วยงานรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากยังไม่มั่นใจว่าสถานการณ์แล้งปีนี้ อาจยาวนาน กว่าจะมีฝนตกลงมาอาจเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง หากสถานการณ์เริ่มรุนแรง ทางจังหวัดจะประสานหน่วยบินฝนหลวงทำฝนเทียม เนื่องจากในพื้นที่มีการเพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก หากจะให้เกษตรกรยกเลิกการทำนาปีคงเป็นไปได้ยาก แต่ทั้งนี้ได้ให้เกษตรกรประเมินสถานการณ์ของปริมาณฝนที่ตกลงมาด้วย และเพาะปลูกตามสัดส่วนของน้ำต้นทุน ส่วนจังหวัดสกลนครขณะนี้เตรียมตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งในการสู้กับภัยแล้งเพื่อให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image