สปสช.แจงสิทธิประโยชน์ ‘ผู้ป่วยไต’ ยังคงเดิม

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ชมรมเพื่อนโรคไตยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ให้ สปสช.ทบทวนให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังร่วมจ่าย ว่า สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ยึดหลักการให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นหลักประกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกปฏิเสธการรักษา โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดแนวทางล้างไตช่องท้องเป็นทางเลือกแรก กรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถล้างไตทางช่องท้องได้ สามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันยังใช้หลักเกณฑ์นี้ ไม่มีการตัดสิทธิการรักษาของผู้ป่วยแต่อย่างใด

“บอร์ด สปสช.ยังไม่ได้ปรับหลักเกณฑ์ตามข้อเสนอของ สตง. และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานเจตนารมณ์ระบบบัตรทอง คือ ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ให้ผู้ป่วยต้องถูกปฏิเสธการรักษา” โฆษก สปสช. กล่าวและว่า ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์การให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในระบบบัตรทอง ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมเมื่อปี 2559 ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องร่วมจ่ายและกรณีที่ไม่ต้องร่วมจ่าย โดยสรุปคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดมาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นวันที่ระบบบัตรทองเริ่มให้สิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่ต้องร่วมจ่าย รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องได้ ก็ไม่ต้องร่วมจ่ายเช่นกัน แต่สำหรับผู้ป่วยหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2551 หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่สมัครใจเลือกรับบริการทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบคณะกรรมการเพื่อให้ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ในปี 2550 ได้มีการประมาณการณ์งบประมาณดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในปี 2560 ว่ามากถึง 18,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันใช้เพียง 8,000 ล้านบาท สะท้อนว่าสามารถควบคุมงบประมาณได้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image