ปิดเกาะยูง เสริมความแข็งแรงปะการังรับมือ’ฟอกขาว’รักษา’เขากวาง’แหล่งสุดท้ายในอันดามัน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ปี 2558 ตนได้ทำหนังสือถึงสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอให้ปิดพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลในบริเวณเกาะยูง ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งปะการังเขากวางที่สมบูรณ์แหล่งสุดท้ายในทะเลอันดามัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันและบรรเทาปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายนเป็นต้นไป และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักอุทยานฯได้รับหลักการและเตรียมจะปิดเกาะยูงแล้วภายในเดือนมีนาคมนี้

“เวลานี้อุณหภูมิของน้ำทะเล โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงมาก จากปรากฏการเอลนิโญ ความร้อนดังกล่าวได้แผ่มาถึงบริเวณเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ที่เป็นแหล่งปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ที่ประเทศออสเตรเลีย แล้ว หากมหาสมุทรอินเดียที่อุณหภูมิยังไม่สูงนัก กันน้ำร้อนที่ไหลมาจากมหาสมุทรแปซิฟิกไม่อยู่ โอกาสที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ในบริเวณทะเลอันดามันเป็นไปได้ค่อนข้างสูง จึงต้องหาทางป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า โดยต้องทำให้สุขภาพของปะการังบริเวณเกาะยูง ซึ่งเป็นพื้นที่ปะการังสำคัญ ที่มีชีวิตรอดมาจากการฟอกขาวเมื่อปี 2553 การปิดเกาะยูงนั้น จะไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปยุ่มย่าม ทั้งการดำน้ำและทำกิจกรรมอื่นๆ ทุกประเภท เพื่อเตรียมความพร้อมให้ปะการังบริเวณนั้นมีสุขภาพแข็งแรงที่สุด หากมหาสมุทรอินเดียต้านน้ำร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกเอาไว้ไม่อยู่ เหล่าปะการังจะมีความพร้อมที่จะรับมือน้ำร้อนมากที่สุด โอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวก็จะมีน้อยตามไปด้วย” รศ.ธรณ์กล่าว

รศ.ธรณ์กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยประกาศรับมือกับการเกิดปะการังฟอกขาว โดยการหาทางป้องกันอย่างเป็นทางการ ถามว่าปิดเกาะเป็นการป้องกันปะการังฟอกขาวอย่างไร ตอบเลยว่าป้องกันได้แน่นอน เพราะหากยังปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดำน้ำและมีกิจกรรมทางทะเลอยู่ อาจมีการเหยียบปะการังเสียหาย ปล่อยน้ำเสีย ทิ้งสมอลงไปรบกวน แม้ปะการังไม่ตายแต่อาจจะมีสุขภาพอ่อนแอ ยากต่อการต้านทานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในธรรมชาติ แต่หากเสริมความแข็งแรงให้ปะการังตั้งแต่ตอนนี้ โอกาสที่จะรอดพ้นจากการฟอกขาวก็มีมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การปิดเกาะยูงก็ไม่ได้ปิดโอกาสทางการท่องเที่ยว เพราะห่างจากเกาะยูงไปประมาณ 1 กิโลเมตรก็มีเกาะไผ่ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงามไม่แพ้เกาะยูงเลย

เมื่อถามว่าระยะเวลาในการปิดเกาะยูงจะนานแค่ไหน รศ.ธรณ์กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มีกำหนด จะปิดไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลจะเข้าสู่ความเป็นกลาง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image