นักโภชนาการ ชี้ กิน “ข้างทาง” เสี่ยงรับสารพิษโลหะหนัก-เชื้อโรค

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ในฐานะที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวโน้มคนไทยนิยมกินอาหารที่จำหน่ายตามริมฟุตบาท หรือ สตรีท ฟู้ด (Street food) กันมาก ทำให้มีความเสี่ยงได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนโลหะหนักจากควันรถยนต์ ฝุ่น เชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อวัณโรค เพราะพบว่ามีร้านค้าจำนวนมากทำผิดหลักสุขอนามัย อาทิ ทำอาหารสำเร็จรูปใส่ในภาชนะที่ไม่มีฝาปิด วางอาหารใกล้พื้น ซึ่งตามหลักต้องอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร วัตถุดิบประกอบอาหารและภาชนะบรรจุไม่สะอาด เป็นต้น

นายสง่า กล่าวว่า ยังพบว่า ผู้ประกอบการบางร้านหยิบเงินทอนให้ลูกค้าแล้วไปหยิบอาหารใส่จานโดยไม่ล้างมือ ขณะที่ อาหารบางประเภทต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น ซูชิ ต้องอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิห้องเป็นอย่างน้อย แต่กลับพบวางขายตามตลาดนัดท่ามกลางอากาศร้อน ซึ่งอาจทำให้ซูชิบูด เสียได้ง่าย อีกทั้งเสี่ยงได้คุณค่าทางโภชนาการไม่ครบ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภททอด ผัด มีผักเป็นส่วนประกอบน้อย แป้งและเนื้อสัตว์มาก ใส่ผงชูรส ผงปรุงรส

“มีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่ซื้ออาหารกินเองมีความเสี่ยงที่จะอ้วนลงพุง และเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เอ็นซีดี) มากกว่าคนประกอบอาหารกินเองหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีผู้ประกอบอาหารร้อยละ 50 ไม่ไผ่านการอบรมเรื่องสุขาภิบาลอาหาร จึงปรุงอาหารโดยเน้นรสชาติเป็นหลัก แต่ขาดการคำนึงถึงเรื่องความสะอาด ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคจะซื้อกลับไปอุ่นก่อนกินที่บ้าน แต่ความร้อนทำลายโลหะหนักไม่ได้ ดังนั้น ภาครัฐควรต้องเข้ามาดูแลคุณภาพอาหารสตรีทฟู้ดอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image