วงเสวนาดูเมฆเผย ไม่ได้ดู‘เมฆ’เพื่อความรื่นรมย์เท่านั้น แต่เพื่อป้องกันตัวเอง

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่มติชนอคาเดมี ฝ่ายโครงการพิเศษและสำนักพิมพ์มติชนจัดงานเสวนา “รื่นรมย์ ชมเมฆ เรื่องราวสนุกๆ จากฟากฟ้า” โดยมี ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ เป็นผู้นำเสวนา และวิกรานต์ ปอแก้ว ร่วมดำเนินรายการ

ดร.บัญชากล่าวว่า พื้นฐานการดูเมฆ ถ้าให้ตอบแบบคนในชมรมก็ให้หยิ่งๆ เข้าไว้ เชิดหน้า เพราะตอนกลางวันเมฆอยู่กับเราแทบตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน จะเป็นคนในเมืองหรือชนบท หรือระหว่างการเดินทาง แค่แหงนหน้ามองท้องฟ้าก็มีสิทธิจะเห็นเมฆ หรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเมฆได้ตลอดเวลา ถ้ามีอะไรบางอย่างที่แปลกหรือน่าสนใจ หรืออาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าสนใจ แต่มองแล้วเพลิน มองแล้วสบายใจ นั่นก็ถือว่าเป็นการดูเมฆแล้ว

“เมฆกับหมูมีความคล้ายกัน เพราะมี 3 ชั้นเหมือนกัน โดยเมฆแบ่งเป็น เมฆชั้นต่ำ เมฆชั้นกลาง และเมฆชั้นสูง ถ้าใช้วิธีการเรียนแบบดูแผนภาพประเภทเมฆจะทำให้ลืม เพราะเราไม่เข้าใจความเชื่อมโยง แต่ถ้าเราสามารถร้อยเรียงความเชื่อมโยงจะทำให้สนุกกว่า โดยเมฆประเภทหนึ่งที่เรียกว่าเมฆฝนฟ้าคะนอง บ่อยครั้งที่ไว้จุกด้วย ซึ่งจุกนี้เรียกว่า Overshooting Top (OT) ภาพที่เห็นอยู่นี้ถ่ายได้จากกัมพูชา แต่เมฆชนิดนี้ที่ไทยก็มี คนที่ชอบดูเมฆจะรู้ว่ามันไว้จุกด้วย ถ้าจุกอยู่แป๊บเดียวแล้วหายไป หรืออยู่เพียง 3-4 นาที ก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าอยู่นานเกิน 10 นาที แสดงว่าเมฆก้อนนี้มีความรุนแรงมาก จะมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกรุนแรง” ดร.บัญชากล่าว

ดร.บัญชากล่าวต่อว่า ที่อเมริกา เมื่อใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เขาสามารถระบุกลุ่มของเมฆได้ว่าเป็นกลุ่มเมฆหลายๆ ก้อนมาเจอกัน แต่จุดสำคัญคือในภาพถ่ายดาวเทียม เราสามารถรู้ได้ว่า Overshooting Top อยู่ตรงไหน หากนักอุตุนิยมวิทยารู้ว่าทิศทางลมอยู่ตรงไหน จะเคลื่อนขึ้นเหนือในอัตราเท่าไหร่ เขาสามารถเตือนเราได้ เช่น คนในเมืองหนึ่งโดนฟ้าผ่าและลูกเห็บถล่มอยู่ หากมันขึ้นเหนือแสดงว่าอีกที่หนึ่งต้องระวัง นี่คือการเตือนภัยอย่างมีความรู้ จะเห็นว่าในบ้านเราไม่มีใครเคยพูดเรื่องนี้เลย มีใครเคยบอกเราไหม กรมอุตุฯเคยบอกหรือไม่ว่าที่จุดนี้มี Overshooting Top อยู่ มันจะเคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่มีเลย
“หากเราทำให้วงการวิชาการเข้มแข็งพอ สนใจเรื่องนี้ มีเทคโนโลยี และตัวเราเองที่มีความรู้เมื่อแรกเห็นว่าเมฆนี้จะเกิดทั้งฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าแรง และมีลูกเห็บด้วย กำลังมุ่งหน้าสู่เรา เราจะได้หลบเข้าบ้านได้อย่างปลอดภัย นี่เป็นการเตือนภัย เราไม่ได้ดูเมฆเพื่อความรื่นรมย์เท่านั้น แต่เป็นการดูเพื่อป้องกันตัวเองในอีกหลายมิติ” ดร.บัญชากล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากกิจกรรมเสวนาดูเมฆแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมสาธิตการเกิดเมฆ กิจกรรมต่อจิ๊กซอว์เป็นรูปเมฆ พร้อมทั้งบอร์ดประกวดภาพถ่ายเมฆประเภทต่างๆ อาทิ สวยๆ (beautiful), ฝันๆ (dreamy), คิดได้ไงนี่! (creative) โดยงานนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image