การฆ่าตัวตายเป็นบาปหรือไม่ ??

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง ได้เข้าร่วมเสวนาธรรมและต่อมาบทความที่ท่านบรรยายได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือธรรมปฏิสันถารฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2556 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

เวลานี้ใครๆ ก็เชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปหนักที่สุดยิ่งกว่าการฆ่าสัตว์อื่นเสียอีก ความจริงการฆ่าตัวตายไม่บาปเลย ขอย้ำว่าไม่บาปเลย เพราะองค์ของปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ท่านจัดไว้ว่ามีองค์ 5 คือ ปาโณ (สัตว์นั้นมีชีวิต) ปาณสัญญิตา (รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต) วธกจิตตัง (มีความคิดจะฆ่า) ตัชโชวายาโม (มีความพยายามฆ่า) เตน มรณัง (สัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น) ครบ 5 จึงจะเป็นบาป แต่ปาณสัญญิตาองค์ที่ 2 แค่นี้ก็วินิจฉัยได้แล้วว่าหมายถึงใคร ปรากฏว่าหมายถึงสัตว์อื่น

ท่านผู้รู้ท่านนั้นกล่าวว่า ถ้ารู้ว่านั่นเป็นสัตว์ รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต แล้วมีจิตคิดจะฆ่า แค่นี้ยังไม่บาป แต่พอลงมือเรียกว่ามีความพยายามจะฆ่า แล้วสัตว์นั้นตายลง นี่เรียกว่าเป็นบาป ปกติคนเรายังไม่ตาย ยังเป็นอยู่ จะต้องมีการวินิจฉัยตัวเองไหมว่า เรานี้เป็นสัตว์ที่มีชีวิตหรือเปล่าหนอ เพราะฉะนั้นองค์ 2 ปาณสัญญิตา (รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต) จึงหมายถึงสัตว์อื่น ไม่ได้หมายถึงตัวเอง

บทความข้างต้นกล่าวเพิ่มว่า มีพระฆ่าตัวตาย แล้วได้บรรลุมรรคผลเป็นอรหันต์ก็ปรากฏอยู่ เช่นในคัมภีร์ธรรมบท ท่านโคธิกะ ฌานท่านเสื่อม ท่านเสียดาย เจริญฌานได้ใหม่ก็เสื่อมอีก เป็นอย่างนี้หลายครั้ง ในที่สุดท่านเห็นว่า อย่ากระนั้นเลยพอเจริญได้แล้ว ฆ่าตัวตายเสียก่อน อย่าให้ทันฌานเสื่อม พอท่านเจริญฌานได้อีกครั้ง ท่านก็ฆ่าตัวตายเลย ปรากฏว่าก่อนตาย ท่านเจริญวิปัสสนาบรรลุเป็นอรหันต์

Advertisement

บทความได้กล่าวย้ำว่า การฆ่าตัวตายไม่บาป โดยกล่าวอ้างถึงสมัยพุทธกาลที่พระพุทธองค์ทรงแสดงการเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาซากศพอันมีสภาพไม่งาม พระภิกษุได้สดับแล้ว มีความเลื่อมใส พอใจที่จะเจริญอสุภกรรมฐาน พระที่เจริญอสุภกรรมฐานเห็นความไม่งามของร่างกายทุกวัน เกิดชิงชังเบื่อหน่าย จึงพากันฆ่าตัวตาย ปรากฏว่ามีพระฆ่าตัวตายมากถึง 60 รูป พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระสงฆ์เหล่านั้นฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตรัสติเตียนภิกษุเหล่านั้น มีแต่ตรัสว่าภิกษุเหล่านั้นล้วนเข้าถึงสุคติ

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นมุมมองของปัญหาข้างต้นอีกด้านทั้งในทางภาษาศาสตร์และทางวิปัสสนาญาณแห่งพระพุทธศาสนาที่แสดงความจริงอีกด้านว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาป และเป็นบาปหนักยิ่งกว่า ดังนั้น ความเห็นที่ว่าการฆ่าตัวตายไม่บาปจึงไม่อาจปล่อยให้ผ่านสู่สาธารณชนโดยไม่มีการทักท้วง เพราะถือเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาและเป็นอกุศลมูลต่อจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง

หากชาวพุทธทั้งหลายต่างพากันเข้าใจไปในทางเดียวกันว่า การฆ่าตัวตายไม่บาป ทัศนคติเช่นนั้นอาจส่งผลสะเทือนต่อสังคมชาวพุทธ อาจสร้างความเสียหายต่อสถาบันครอบครัวและต่อผู้ใกล้ชิด ทั้งอาจก่อให้เกิดความเสื่อมถอยต่อพระธรรมคำสอนและแก่ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอันถือเป็นที่พึ่งทางใจที่สำคัญยิ่งของชาวพุทธ

Advertisement

ความเห็นที่ว่าการฆ่าตัวตายไม่บาปอาจกลายเป็นคมดาบอันน่าสะพรึงกลัวที่กลับมาฟาดฟันผู้คนในสังคมให้ล้มตายเป็นเบือ ผู้คนจะพากันฆ่าตัวตายอย่างไม่แยแสด้วยความรู้สึกท้าทายอย่างน่าตื่นตระหนกตกใจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือด้วยเพียงความฟุ้งซ่านชั่วขณะ

ลำพังการศึกษาปริยัติแต่ประการเดียวและนำความรู้นั้นมาใช้ในการแปลพระธรรมวินัยอันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางจิตใจ จึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่อาจผิดพลาดได้ การแปลความในพระไตรปิฎกจึงต้องทำโดยผู้รู้จริง ผู้รู้คือใคร ผู้รู้คือผู้ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติสมาธิภาวนาควบคู่กัน

เนื่องจากผู้ฝึกกรรมฐานสามารถสัมผัสและเข้าใจสภาพจิตได้ดีกว่าผู้ศึกษาแต่เพียงปริยัติ ผู้ปฏิบัติภาวนาและเจริญสมาธิเพื่ออยู่กับจิตจะเป็นผู้เข้าถึงธรรมได้ดีกว่า เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ ผู้ฝึกจิตดีแล้วเท่านั้นจึงเป็นผู้แตกฉานในธรรม ดังเช่นพระนาคเสนที่เจริญสมาธิภาวนาจนสำเร็จอรหัตตผลตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาญาณ ทำให้พระนาคเสนแตกฉานในพระไตรปิฎก สามารถตอบคำถามพระยามิลินท์ได้อย่างคล่องแคล่ว

การแปลพระธรรมคำสอนจึงแตกต่างจากการแปลถ้อยคำทั่วไป การแปลถ้อยคำในทางโลกในทางสมมุติจะแปลความไปในทางใดก็ได้ หรือแปลไปหลายๆ ทางก็ได้ เท่าที่มีช่องทางให้มันลื่นไหลไปได้ จะแปลโดยใช้ตรรกะ ใช้วาทกรรม หรือใช้แบบศรีธนญชัยก็ได้ทั้งนั้น แล้วแต่ภูมิปัญญาของผู้แปลจะนำพาไป

แต่การแปลพระธรรมคำสอนจะแปลได้เฉพาะทางใดทางหนึ่งเท่านั้น จะแปลให้เป็นอื่นหรือแปลให้หลากหลายความหมายย่อมไม่อาจทำได้ กล่าวคือถ้าการกระทำนั้นเป็นบาป ก็ต้องแปลว่าเป็นบาป จะเลี่ยงบาลีโดยใช้สำนวนโวหารเพื่อแปลให้เป็นไม่บาป ย่อมไม่อาจทำได้ ที่สำคัญยิ่งดังที่กล่าวมาข้างต้นคือ การแปลธรรมะต้องอาศัยภูมิปัญญาที่ได้ทั้งจากปริยัติและการปฏิบัติสมาธิภาวนา

ลำพังปริยัติอย่างเดียวไม่อาจทำให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจสภาวะจิต ปริยัติไม่อาจทำให้ผู้ศึกษาเข้าถึงอารมณ์กรรมฐาน จิตของผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงเป็นจิตที่มีกระแสธรรมสูงกว่าจิตที่ติดยึดเกาะแน่นอยู่กับกายที่ยังถูกรุมเร้าด้วยกิเลสตัณหา จิตที่ยังหลงอยู่กับกายหยาบจึงไม่อาจเข้าถึงธรรมได้ ผู้ศึกษาแต่ปริยัติจึงไม่อาจเป็นผู้รู้ที่จะแปลความในพระธรรมวินัยได้

กล่าวเฉพาะในศีลข้อ 1 การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่การแปลศีลข้อ 1 โดยวิธีขยายความว่า เฉพาะการฆ่าสัตว์อื่นเท่านั้นที่เป็นบาป แต่ฆ่าตัวเองไม่บาป การแปลแบบพิสดารเช่นนี้ไม่อาจนำมาใช้กับการแปลพระธรรมวินัย เพราะการแปลพระธรรมต้องแปลจากจิตที่เข้าถึงธรรมแล้ว ไม่ใช่แปลโดยใช้สำนวนโวหาร

อย่างไรก็ดี แม้จะแปลโดยวิธีขยายความแล้วก็ตาม แต่คำแปลในส่วนที่ว่า ฆ่าตัวตายไม่บาปนั้นยังขัดแย้งกับศีลข้อ 1 อยู่ดี เพราะถึงอย่างไรการฆ่าตัวเองคือการทำลายชีวิตของคนคนหนึ่ง จึงนับว่าเป็นการฆ่าสัตว์นั่นเอง ศีลข้อ 1 ไม่ได้มีข้อยกเว้นว่าการฆ่าตัวเองไม่บาป อีกทั้งไม่มีพระธรรมวินัยอื่นใดที่กล่าวว่าการฆ่าตัวตายไม่บาป จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะแปลความไปในทางเช่นนั้น

การฆ่าสัตว์โดยทั่วไปย่อมมีผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่า แต่การฆ่าตัวตายก็รู้อยู่แล้วว่าไม่อาจแยกเป็นผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำได้ การแปลความโดยวิธีแยกการกระทำของคนเพียงคนเดียวให้กลายเป็นของคน 2 คน เพื่อแสดงตรรกะว่าจะเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกฆ่าต้องตกนรกไปกับผู้ฆ่าด้วย เพื่อให้เหตุผลว่าการฆ่าตัวตายไม่บาป จึงเป็นการอุปโลกน์ให้มีผู้ถูกฆ่าเพิ่มอีกคนเพื่อยื้อแย้งว่าการฆ่าตัวตายไม่บาป เป็นการตีความแบบศรีธนญชัย เป็นการใช้วาทกรรมให้เกิดการลื่นไหลของความหมายอันถือเป็นจริตนิสัยของผู้ที่ยังติดอยู่ในโลกสมมุติ การแปลธรรมะโดยใช้สำนึกเยี่ยงปุถุชนเช่นนี้ไม่อาจนำมาใช้กับการแปลพระธรรมวินัย

การพิจารณาข้อธรรมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้น วิปัสสนากรรมฐานจะเป็นกุญแจสำคัญไขไปสู่คำตอบได้ว่าการกระทำนั้นเป็นบาปหรือไม่ เพราะเหตุว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาเห็นกายนี้เป็นเพียงซากอสุภะและสิ่งปฏิกูลเน่าเหม็น ซากอสุภะทำให้ผู้ปฏิบัติกรรมฐานเสื่อมคลายจากการยินดีในความกำหนัด ละถอนอัตตาตัวตนตัวกูของกูได้ และไม่ปรารถนาในลาภ ยศ สรรเสริญใดๆ จิตที่ละทิ้งอาสวะกิเลสนี้จะเข้าสู่อรหัตตผลและไม่ต้องการอยู่ในกายหยาบนี้อีกต่อไป

ดังนั้นที่ท่านโคธิกะและเหล่าสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ต่างฆ่าตัวตาย เนื่องจากท่านเหล่านั้นปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนพิจารณาเห็นซากอสุภะในกายของตน การฆ่าตัวตายของเหล่าสงฆ์จึงเป็นการเปิดทางให้จิตได้ก้าวสู่แดนนิพพาน การฆ่าตัวตายเช่นนี้จึงไม่บาป เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นได้เข้าถึงวิปัสสนาญาณก่อนจะฆ่าตัวตาย พระพุทธองค์จึงไม่ทรงตำหนิ เพราะจิตของพระอรหันต์ไม่ยอมให้กายนี้ฉุดรั้งการเข้าสู่นิพพานที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า

ขณะที่ปุถุชนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงสภาวะจิตที่แยกจากกายได้ ไม่อาจเข้าถึงวิปัสสนาญาณได้ เขาเห็นกายเป็นสิ่งมีตัวตน มีชีวิตจิตใจ ปุถุชนยังเห็นกายเป็นสิ่งที่ต้องปรนเปรอ ดังนั้นการฆ่าตัวตายของปุถุชนจึงเป็นการทำลายกายที่ยังมีจิตมีวิญญาณ จึงถือเป็นการฆ่าชีวิต

บุคคลที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่ไม่เคารพในศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของตัวเอง ไม่ศรัทธาต่อกุศลผลบุญที่ได้นำส่งเขาให้มาเกิดเป็นมนุษย์ที่สัตว์ในภพอื่นภูมิอื่นยากนักที่จะได้มาเสวยชาติเกิด การฆ่าตัวตายจึงเป็นบาปหนักยิ่งกว่าการฆ่าสัตว์อื่น

หน้า 6

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image