กทม.ยันมีงบฯจัดซื้อ ‘วัคซีนพิษสุนัขบ้า’ ตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถใช้งบประมาณจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปฉีดในสัตว์เพื่อควบคุมโรคได้ เนื่องจากถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงว่าเป็นการใช้งบฯ ผิดประเภท ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าของ กทม.นั้น ได้จัดสรรงบประมาณของ กทม.จัดซื้อวัคซีนเองทุกปี ถือเป็นภารกิจหน้าที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่างจาก อปท.ที่ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนได้เนื่องจากไม่มีโครงสร้างนี้

“สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่มีข้อมูลว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นนั้น ยืนยันว่าการเพิ่มขึ้นในที่นี้หมายความว่า สำนักอนามัย กทม.ได้ค้นหาสัตว์ที่ติดเชื้อจนเจอเพื่อที่จะควบคุมโรคให้ได้ แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะว่า กทม.ไม่ได้มีมาตรการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ สำนักอนามัย กทม.ได้จัดหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และมีโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงถึงปีละ 2 ครั้ง” นพ.ชวินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักอนามัย กทม.พบว่า ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 7 ราย ในปี 2553 จำนวน 6 ราย ในปี 2554 ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ในปี 2555 จำนวน 1 ราย และในปี 2556-2559 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต จำนวน 1 รายในพื้นที่เขตบางนา ส่วนในปี 2560 (ม.ค.-เม.ย.) ยังไม่มีรายงาน ขณะที่ได้รับรายงานการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้้าในตัวอย่างซากสัตว์ที่ประชาชนส่งให้มาตรวจ พบว่า ในปี 2553 จำนวน 106 ตัว ในปี 2554 จำนวน 89 ตัว ในปี 2555 จำนวน 72 ตัว ในปี 2556 จำนวน 31 ตัว ในปี 2557 จำนวน 47 ตัว ในปี 2558 จำนวน 22 ตัว ในปี 2559 จำนวน 32 ตัวและในปี 2560 จำนวน 26 ตัว ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่า คนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากถูกสุนัขกัด ไม่ได้ติดตามดูอาการและนำสัตว์ที่กัดส่งชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า ในสัตว์ที่พบเชื้อพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่เป็นสุนัข ร้อยละ 90-96 เป็นแมว ร้อยละ 4-8 โดยร้อยละ 70 เป็นสัตว์จรจัด ร้อยละ 30 เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ ร้อยละ 80 ของสัตว์ที่มีเจ้าของไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และมักจะเลี้ยงดูแบบอิสระทำให้มีโอกาสไปสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า แม้ กทม.จะเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการเผยแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ กทม.ก็ได้มีมาตรการในการควบคุมจำนวนสัตว์จรจัดเพื่อลดพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า เน้นการฉีดวัคซีน การคุมกำเนิดโดยการผ่าตัดทำหมัน ซึ่งให้บริการทั้งสุนัขแและแมวที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ โดยมีการจับสุนัขจรจัดและนำไปเลี้ยงดูจนหมดอายุขัย ส่วนแมวไม่มีการจับไปเลี้ยงดู เนื่องจากสถานที่ในการเลี้ยงดูและพฤติกรรมการดำรงของสุนัขและแมวแตกต่างกัน

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม สำนักอนามัย กทม.ได้แก้ปัญหาแมวจรจัดด้วยการจัดหากรงให้ผู้เลี้ยงแมวยืมเพื่อจับมาทำหมันลดจำนวน แล้วหาเจ้าของหรือนำไปเลี้ยงไว้ที่เดิม อีกทั้งได้พิจารณาปรับปรุงสถานที่ศูนย์ควมคุมสุนัขประเวศสร้างเป็นคอกเพื่อรองรับแมวที่มีความจำเป็นต้องนำออกจากสถานที่มาเลียงดู คาดว่าจะสามารถรองรับแมวได้ประมาณ 200 ตัว และพร้อมผลักดันและมอบนโยบายอย่างชัดเจนแก่สำนักอนามัยในเรื่องการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” นายทวีศักดิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image