ปิดฉากโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐพหลฯ 11 บทเรียนรัฐ-ชุมชน

มติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ บนที่ดินราชพัสดุ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย และข้าราชการระดับล่าง มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

จากนั้น กรมธนารักษ์นำร่อง 6 แปลงใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ 2 แปลง เพชรบุรี 2 แปลง เชียงใหม่และเชียงรายจังหวัดละ 1 แปลง

ถือเป็นโครงการที่ดี หากจะสร้างให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ มิเช่นนั้นจะทำให้โครงการดีกลายเป็นร้าย

อย่างกรณีที่ดินราชพัสดุ ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ เนื้อที่ 9-3-33 ไร่ ที่จะก่อสร้างอาคารชุด 600-800 หน่วย โดยไม่ได้ดูข้อมูลความเหมาะสมหรือสอบถามชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

Advertisement

ทำให้ 15 องค์กร อาทิ โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (แผนกประถม) ชุมชนย่านถนนเจริญประทศ ย่านช้างคลาน ร่วมกันคัดค้าน เพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาจราจรและอื่นๆ

จนกรมธนารักษ์ต้องยกเลิกโครงการในพื้นที่นี้ไป

อีกแปลงที่มีปัญหาคล้ายๆ กันคือที่ซอยพหลโยธิน 11 เขตพญาไท กทม. เนื้อที่ 2-1-48 ไร่ ที่จะก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เป็นอาคารชุดสูง 8 ชั้น 2 อาคาร 432 หน่วย ก็มีชาวบ้านบริเวณใกล้รวมตัวกันตั้ง กลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไทŽ ออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่าจะมีผลกระทบหลายด้าน

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการจราจรที่จะติดขัดหนัก เพราะที่ซอยพหลโยธิน 11 คับแคบ

และที่สำคัญคือไม่มีการทำประชาพิจารณ์กับชุมชนมาก่อน

แต่ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ (ในขณะนั้น) ไม่ยอมทบทวนเหมือนโครงการที่เชียงใหม่ แต่ให้รอผลการศึกษา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

เป็นตัวตัดสินว่าจะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่

อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 ไม่เพียงแค่เสียงคัดค้านของชุมชนใกล้เคียงเท่านั้น แต่ยังมีข้อพิรุธ ข้อกังหาถึงความโปร่งใสของโครงการมากมายว่าจะไม่ชอบพามากล

ลองไปย้อนดูว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2559 กรมธนารักษ์ประกาศประกวดโครงการดังกล่าว

แล้ววันที่ 2 พฤษภาคม 2559 เช่นกันก็มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน-คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ปกับบริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด โดยบริษัทปักกิ่งฯรับผิดชอบด้านการก่อสร้าง หาหลักทรัพย์ค้ำประกันผลงาน

ส่วนบริษัทจูโน่ฯรับผิดชอบในการออกแบบ ประสานงานกับหน่วยงานราชการ รวมถึงยื่นเรื่องการศึกษาอีไอเอ ขอใบอนุญาตก่อสร้าง และรับโอนสิทธิการเช่า เพื่อจัดเก็บค่าเช่าอาคาร

วันที่ 4 สิงหาคม 2559 กรมธนารักษ์ประกาศผู้ชนะการประมูล คือบริษัทปักกิ่งฯ

จากนั้นวันที่ 16 สิงหาคม 2559 มีการลงนามในสัญญาระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัทปักกิ่งฯ

แต่อยู่ดีๆ วันที่ 12 ตุลาคม บริษัทปักกิ่งฯก็ทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์ขอโอนสิทธิให้กับบริษัทจูโน่ฯ กรมธนารักษ์ก็ใจดีอนุญาตให้โอนสิทธิกันได้

ทั้งที่ บริษัทจูโน่ฯทำธุรกิจบริการศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร โดยระบุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท 29 ข้อไม่มีธุรกิจด้านการก่อสร้าง และมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ขณะที่เงื่อนไขการประมูลจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท แถมปี 2558 ขาดทุนสะสมรวม 43.54 ล้านบาท

แต่เมื่อกรมธนารักษ์ให้โอนสิทธิได้ บริษัทจูโน่ฯก็ไปแต่งตัวใหม่ โดยวันที่ 4 มกราคม 2560 ไปเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท พร้อมเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น และปรับสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ โดย นางปพิชญา โหสกุล จากที่ถือหุ้น 3.5 แสนหุ้น หุ้นละ 100 บาท ลดเหลือ 2 แสนหุ้น นายพีระศักดิ์ โหสกุล จาก 1 แสนหุ้นเหลือ 5 หมื่นหุ้น และนายชนินทร์ จึงโสภณวิทวัส ที่เข้ามาใหม่ถือหุ้นใหญ่ 2.5 แสนหุ้น

นอกจากนี้ ยังเพิ่มวัตถุประสงค์เป็น 49 ข้อ รวมถึงการประกอบกิจการก่อสร้างอาคารเพื่อขายหรือเช่า

เท่ากับว่านายชนินทร์ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องไปร่วมประมูลอะไร ก็ได้โครงการมาอยู่ในมืออย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ นายชนินทร์เป็นกรรมการเพียงคนเดียวของบริษัท สมบุญ พัฒนา จำกัด เป็นนายชนินทร์ที่เคยเป็นผู้จัดการโครงการของบริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด ที่เลิกกิจการไปตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งทั้งสองบริษัทระบุที่ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 141 ซอยอารีย์สัมพันธ์ 2 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. และมีหลายโครงการที่ถูกร้องเรียนและถูกตรวจสอบถึงความไม่โปร่งใส

จากนั้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 นางปพิชญา โหสกุล ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทปักกิ่งฯ ก็ทำบันทึกยินยอมการปฏิบัติตามเงื่อนไขการโอนสิทธิกับ นางปพิชญา โหสกุล ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทจูโน่ฯ
เป็นการทำบันทึกกับตัวเองของนางปพิชญา ในฐานะผู้โอนสิทธิและผู้รับสิทธิ

เป็นการแต่งตัวที่ดูเหมือนจะรู้แกวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังตรวจสอบอยู่ เพราะเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 สตง.ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมธนารักษ์ว่า การโอนสิทธิการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายฮั้วประมูล และบริษัทจูโน่ฯ ไม่มีประสบการณ์การก่อสร้างอาคาร อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการได้ และขอให้ทบทวนโครงการ

แต่ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ (ในขณะนั้น) ก็ยังยืนยันว่าทำตามระเบียบถูกต้อง
จนวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ครม.มีมติเห็นชอบให้ย้ายนายจักรกฤศฏิ์ไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง และให้นายพชร อนันตศิลป์ จากรองปลัดกระทรวงการคลัง มาเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์แทน

ซึ่งนายจักรกฤศฏิ์ยอมรับว่าสาเหตุที่ถูกย้ายอาจมาจากโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 นี้
เมื่อนายพชรเข้ามารับไม้ต่อ แรกๆ ก็ยังสงวนท่าที เพราะหากจะเดินหน้าต่อก็เสี่ยงที่อาจจะถูกตรวจสอบความไม่โปร่งใส แต่ถ้าจะสั่งยุติเลยก็กลัวว่าจะถูกเอกชนฟ้อง

กระทั่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์ว่าหากก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ที่ซอยพหลโยธิน 11 ตามรูปแบบเดิมอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจรแออัด จึงขอให้ลดขนาดโครงการ เหมือนเป็นบันไดให้กรมธนารักษ์มีทางลง

จากนั้นกรมธนารักษ์ก็ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทจูโน่ฯ ว่าตามข้อเสนอของ กทม.นั้นทางบริษัทจะทำได้หรือไม่

ต่อมาไม่นาน บริษัทจูโน่ฯทำหนังสือตอบกลับไปยังกรมธนารักษ์ว่า หากมีการปรับลดขนาดโครงการและเพิ่มสาธารณูปโภคตามที่ทาง กทม. จะกระทบต่อความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการตามแผนเดิม จึงขอ
ไม่ดำเนินโครงการต่อ

หลังจากได้รับหนังสือ กรมต้องมาดูในแง่กฎหมายว่ายกเลิกโครงการได้หรือไม่ จากการประชุมกับฝ่ายกฎหมายเห็นว่าสามารถยุติโครงการได้Ž นายพชรสัมภาษณ์ถึงบทสรุปสุดท้ายของโครงการบ้ายธนารักษ์ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11

เรื่องราวจากโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐที่ จ.เชียงใหม่และที่ซอยพหลโยธิน 11 เป็นบทเรียนต่อโครงการต่างๆ ในอนาคต ที่กรมธนารักษ์จะต้องพิจารณาให้รอบด้าน เหมาะสมและโปร่งใส

ที่สำคัญคืออย่ามองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image