เครือข่ายผู้หญิง เรียกร้องรัฐบาล ปกป้องสตรีนักสิทธิมนุษยชน ตามสัตยาบันสหประชาชาติ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 สิงหาคม ที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามกฎหมาย ซีดอว์ จัดแถลงข่าว การติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยมี ซูซาน แบล็งฮาร์ต อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ให้เกียรติเปิดงาน

Susan Blankhart

นางสาวปรานม สมวงศ์ ตัวแทนองค์กรโปรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้นำเสนอรายงานปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ ซีดอว์ ที่สหประชาชาติ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีกว่า 32 ปีแล้ว โดยได้นำเสนอความก้าวหน้าในเรื่องกฎหมายการค้ามนุษย์ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในประเด็นทางการเมือง คณะกรรมการซีดอว์ สหประชาชาติยังให้ความสนใจในประเด็นของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบในภาคใต้เป็นพิเศษ รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการรณรงค์และแก้ปัญหาในสิ่งที่ได้รับผลกระทบ โดยให้รายงานเรื่องนี้ทุก 2 ปีทั้งยังเป็นห่วงถึงกรณีนักกิจกรรม-ทนายความผู้หญิง ที่อาจจะถูกแทรกแซงและริดรอนสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศไทยได้ชี้แจงในเวทีว่าไม่มีนโยบายละเมิดสิทธินักปกป้องสิทธิต่างๆ

ตัวแทนองค์กรโปรเทคชั่นฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากผ่านไปแล้ว 1 เดือนที่รัฐบาลไทยนำเสนอรายงานปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ก็ยังพบนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงไทยหลายคนถูกละเมิดสิทธิ เช่น กรณีของ แม่สุภาพ คำแหล้ หญิงชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องที่ดินซึ่งสามีหายไปโดยไร้ร่องรอย ถูกศาลฎีกาจำคุก 6 เดือน จากคดีรุกป่าสงวน แม้ว่าจะมีการตกลงกับเจ้าหน้าที่รัฐมาก่อนหน้านี้ว่าสามารถอยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าวได้ จากการเก็บข้อมูลยังพบว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 119 คนในช่วง 2 ปี ที่ถูกฟ้องร้องขับไล่จากการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงกรณีการล่อซื้อผู้หญิงในสถานบริการ และการเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรม หลายคนต้องกู้เงินมาประกันตัวเอง แม้กระทั่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่เพิ่งประกาศออกมาก็ยังมีสัดส่วนของผู้หญิงน้อย

พักตร์วิไล สหุนาฬุ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิง

เครือข่ายสตรีทุกภาคส่วน จึงได้ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในประเด็นต่างๆ อาทิ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะถูกข่มขู่ คุกคามดำเนินคดี โดยเอื้อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม มีตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สันติภาพ และกฎหมายได้ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายนโยบายต่างๆ ต้องนำไม่สู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงโดยเครือข่ายผู้หญิงจะติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาซีดอว์ ที่รัฐบาลได้รายงานไว้ต่อสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image