เด็กช่างกลอุบลฯ สุดเจ๋ง สร้าง ‘อุปกรณ์ทำลายกระจกรถยนต์ ในกรณีรถตกน้ำ’ จดสิทธิบัตรแล้ว

ผลงานสิ่งประดิษฐ์ “อุปกรณ์ทำลายกระจกรถยนต์ ในกรณีตกน้ำ” ของวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี ได้ถูกนำมาเสนอในงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค 2559 (Regional Research Expo 2015)” โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

นายฐิติกรณ์ วงษ์บ้านหล่อ นักศึกษาปวส. ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาเครื่องกล สาขางานเทคนิคยานยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ชิ้นนี้ กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุในรถยนต์กรณีรถยนต์ตกน้ำเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะผู้ประสบภัยไม่สามารถออกจากรถยนต์ได้ เนื่องจากแรงดันน้ำที่บีบอัดตัวถังรถยนต์และระบบควบคุมการเปิดปิดกระจกที่ควบคุมด้วยไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงการออกแบบกระจกให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ฉะนั้นหากทุบให้แตกคงยาก ท้ายสุดก็ไม่สามารถเปิดประตูรถยนต์ได้ จากการทดสอบการทำลายกระจกรถยนต์นั้น พบว่าการใช้อิฐหรือใช้ค้อนทุบ จะใช้เวลานานกว่ากระจกจะแตกได้ ตนและเพื่อนๆ สนใจในประเด็นนี้อย่างมาก ช่วยกันศึกษา กระบวนการ องค์ประกอบทั้งหมดในเรื่องนี้ ต่อมาจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ออกแบบ ที่เรียกว่า “อุปกรณ์ทำลายกระจก ในกรณีตกน้ำ” ขึ้นมา โดยทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบาและหาซื้อส่วนประกอบได้ในท้องตลาดทั่วไปได้

“จากการสร้างและพัฒนาเครื่องทำลายกระจกรถยนต์ ในกรณีตกน้ำก็เพราะอยากช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุรถตกน้ำเพื่อช่วยให้พวกเขามีชีวิตรอดในวินาทีฉุกเฉินและหวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวในสังคมไทยได้” นายฐิติกรณ์ กล่าว

IMG_3203

Advertisement

อุปกรณ์ทำลายกระจก

นายชลอ พลนิล ครูที่ปรึกษาโครงงานสิ่งประดิษฐ์ กล่าวว่า ได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์มาตั้งแต่เริ่มทำการวิจัยจนถึงปัจจุบันที่ได้พัฒนาผลงานมาแล้ว 5 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 อุปกรณ์ทำลายกระจกมีลักษณะคล้ายปืนกระบอกเล็ก มีส่วนประกอบจากหัวกระแทก ตัวล็อกและตัวสปริงเท่านั้น แต่ก็สามารถทำลายกระจกได้ ต่อมาก็เกิดการต่อยอดและพัฒนาอุปกรณ์เป็นรุ่นที่ 2 โดยปรับรูปแบบทั้งหมดให้มีลักษณะคล้ายปืน เพื่อใช้งานได้ง่ายขึ้นและส่วนหนึ่งมอบให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย (1669) ไว้ใช้งานในกรณีฉุกเฉิน แต่เนื่องจากอุปกรณ์มีส่วนคล้ายปืนจึงได้รับความเห็นและมีผลตอบรับให้เปลี่ยนรูปแบบ เพราะเกรงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับบทกฎหมาย จนมีการปรับรูปแบบใหม่เป็นระบบการดึงแล้วปล่อยและไม่ให้มีลักษณะคล้ายปืนในรุ่นที่ 3 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องให้มีด้ามจับและใช้งานได้รวดเร็วในรุ่นที่ 4 จนปัจจุบันต่อยอดและพัฒนาผลงานเป็นรุ่นที่ 5 อุปกรณ์มีขนาดกะทัดรัดและสามารถนำวัสดุจากท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ได้ เช่น หัวกระแทก ที่นำมาจากรถยนต์เก่า หรือ ด้ามจับ ที่มีขายในร้านอะไหล่ทั่วไป

“ปัจจุบันได้ยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้วและตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครคิดค้นมาก่อน จึงอยู่ระหว่างการโฆษณา คาดว่าจะสามารถวางขายในท้องตลาดทั่วประเทศเร็ว ๆ นี้ และสนนราคาประมาณ 999 บาทต่อเครื่อง สำหรับในอนาคตก็อยากทำให้เครื่องทำลายกระจกรถยนต์มีขนาดกะทัดรัดและมีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้งานได้ทั้งในเด็ก ผู้หญิงและผู้สูงวัย” นายชลอ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image