‘ป้ามล’ เผยกฎหมายทางเพศเป็นแค่เสือกระดาษ ชี้ขรก.ซี 6 ยังทำได้ ผู้ว่าฯ-ปลัดฯจะทำขนาดไหน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่โรงแรมเอบีน่าส์เฮ้าส์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง จัดเสวนาเรื่อง “คุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว: รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ผู้แทนหน่วยงานรัฐ ผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศ ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมกว่า 100 คน

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ไทยมีกฎหมายที่ระบุถึงความผิดทางเพศ ตั้งแต่ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการข่มขืนและกระทำอนาจาร กฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นเครื่องมือยับยั้งการคุกคามทางเพศ แต่สุดท้ายกฎหมายเหล่านี้ก็เอาไม่อยู่ เป็นเพียงเสือกระดาษ โดยที่เราไม่เคยทบทวนว่าเพราะอะไรทำไมกฎหมายจึงเป็นเสือกระดาษ ทั้งเรื่องการคุกคามทางเพศ ตลอดจนการคอรัปชั่น ซึ่งจากกรณีข้าราชการ ซี 6 คุกคามทางเพศผู้ใต้บัญคับบัญชา ในกระทรวงสาธารณสุข สามารถวิเคราะห์ได้ 4 สาเหตุ ได้แก่ 1.ระบบอุปถัมภ์ ระบบนี้เหมือนเป็นดีเอ็นเอในระบบราชการไทย ที่คนในระบบราชการจะไม่เตะกัน ยิ่งใครรับใช้นายดีจะเป็นคนที่มีอาณาจักรเป็นของตัวเอง 2.ระบบอำนาจนิยม เราจำนนต่ออำนาจง่ายไป อย่างกรณีนี้แม้ผู้กระทำจะเป็นข้าราชการซี 6 แต่ก็สามารถทำให้ผู้เสียหายยอมศิโรราบได้ ฉะนั้นคงไม่ต้องพูดถึงข้าราชการระดับสูงอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง

นางทิชากล่าวอีกว่า 3.ทัศนคติสังคมไทยที่มองผู้เสียหาย ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังมองผู้เสียหายคดีทางเพศเป็นคนไม่ดี หาว่ายินยอมบ้าง ให้ท่าบ้าง ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าออกมา เพราะคิดว่าเปลืองตัว ที่ต้องตอบคำถาม ทั้งที่ควรไปถามผู้กระทำ และ 4.กระบวนการเอาผิดในระบบราชการยุ่งยากซับซ้อน เรื่องนี้ประหลาดมาก เมื่อมีกรณีล่วงละเมิดทางเพศในระบบราชการมีขั้นตอนไต่สวนยาวนานมาก และจะมีปัญหากับคนที่ลุกขึ้นทวงสิทธิ จนสงสัยว่ากระบวนการดังกล่าวปกป้องผู้เสียหายหรือผู้กระทำกันแน่ เพราะส่วนตัวเคยมีโอกาสเข้าถึงการสอบสวนข้าราชการซี 6 ล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายในหน่วยงานของตัวเอง ตนเอาประจักษ์พยานการสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ไปให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงานนั้นไต่สวน ภายหลังมีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา ต่อมามีการชี้มูลและตั้งคณะกรรมการสอบวินัย รวมเวลาผ่านมา 2 ปีแล้ว ขณะที่ผู้เสียหายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีก ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน

“หากจะแก้ปัญหานี้จริงๆ คงต้องทบทวนและปฏิรูประบบไต่สวนของราชการ ทำอย่างไรไม่ให้ผู้กระทำยังมีอำนาจ จนผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าร้องไปก็ไม่มีทางชนะ เพราะกระบวนการถูกแช่แข็ง หรือเป็นเพียงพิธีกรรมทางกฎหมายให้ประชาชนตายใจ ไม่ได้พิทักษ์ความยุติธรรมอย่างแท้จริง อย่างกรณีข้าราชการซี 6 สธ. ชัดเจนว่าร้องเรียนตามระบบแล้วไม่เชื่อ จึงต้องไปหากล้องมาแอบถ่าย แต่สุดท้ายก็ไม่ถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานอย่างจริงจัง เพราะหน่วยงานยังเดินตามระบบไต่สวนแบบเดิม ทั้งที่เมื่อมีผู้เสียหาย มีพยาน และวีดิโอที่เป็นหลักฐานแล้ว กระบวนการน่าจะเดินไปอย่างรวดเร็ว หรือหากเกรงว่าวีดิโอที่นำมาจะเป็นของปลอม ก็ให้ช่างเทคนิคตรวจสอบได้” นางทิชากล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image