ไอเดียเก๋! สร้าง ‘อสม.ศาลยุติธรรม’ดูแลสุขภาพตุลาการ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า นอกจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ แล้ว ล่าสุด สบส.มีแนวคิดขยายการดูแลสุขภาพไปยังหน่วยงานอื่น ที่ไม่ได้ทำงานด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายอื่นๆ ในระบบราชการ เนื่องจากบุคลากรกลุ่มนี้มีข้อจำกัดหลายเรื่อง เช่น ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ไม่มีเวลารับประทานอาหารเช้า ทำงานหนัก นอนดึก ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลาไปพบแพทย์ หรือไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ถูกต้อง กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในหน่วยงาน เป็นต้น เบื้องต้น สบส.ได้ร่วมมือกับศาลยุติธรรม จัดอบรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการจากศาลต่างๆ ในสังกัดทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา จำนวน 100 คน ให้เป็นอาสาสมัครบริการสุขภาพประจำศาลยุติธรรม หรือ อสม.ศาลยุติธรรม สามารถดูแลรักษาสุขภาพตนเอง เป็นผู้นำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มบุคลากรให้ความช่วยเหลือสุขภาพเบื้องต้น รวมทั้งการเจ็บป่วยฉุกเฉินของบุคลากรได้ตลอดเวลา เพื่อให้บุคลากรหน่วยราชการมีสุขภาพดีจนถึงอายุ 72 ปี และมีอายุยืนยาวเฉลี่ย 80 ปี เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในการอบรมจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น 2 วัน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากกรมวิชาการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ การควบคุมโรค เป็นต้น มาให้ความรู้ 2 ส่วนหลัก คือ 1. วิธีการดูแลสุขภาพทั่วไปของกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงวัย เน้นความรู้เกี่ยวกับโรคที่มักจะเกิดขึ้นในวัยนี้ เช่น ความอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ รวมทั้งโรคจากการทำงานเช่นความเครียด เป็นต้น และ 2.วิธีการดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน เช่น การประเมินผู้ป่วยหมดสติเบื้องต้น การฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานผู้ที่มีอาการช็อก หัวใจวาย การห้ามเลือดก่อนนำส่งโรงพยาบาล และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ถูกวิธี เป็นต้น
“ภายหลังจากอบรมไปแล้ว อาสาสมัครบริการสุขภาพประจำศาล จะเป็นบุคลากรแกนนำของการสร้างสุขภาพดีให้กับศาลยุติธรรมทุกระดับมุ่งผลให้เกิดการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย หน่วยงานละ 2 คน โดยชักชวนเพื่อนร่วมงานร่วมจัดกิจกรรมเปลี่ยนสุขภาพในที่ทำงาน ผ่อนคลายความตึงเครียดการทำงาน การบริการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นแก่บุคลากรในสถานที่ทำงาน เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ประเมินความอ้วน การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจโรคเบาหวาน” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวและว่า ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน สนใจจะขอรับการอบรม สามารถติดต่อได้ที่ กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในวันและเวลาราชการ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2193-7000 ต่อ 18711
8 (4)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image